Photo_printing_memories

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ ผู้บริโภคก็ถูกถาโถมด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เทรนด์ที่เกิดขึ้น และเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา แต่ Nostalgia Marketing หรือการตลาดผ่านความทรงจำในอดีต ได้กลับกลายมาเป็นกลยุทธ์อันทรงพลังที่ช่วยสร้างการเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำพาผู้คนกลับไปสู่ความทรงจำอันน่าประทับใจในอดีต ที่จะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงอารมณ์ของผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เรามาดูกันครับว่า Nostalgia Marketing คืออะไร ทำไมมันถึงได้ผลกับยุคสมัยนี้ในบทความนี้กันครับ

What's next?

Nostalgia Marketing คืออะไร

Nostalgia Marketing คือ การใช้กลิ่นอายหรือองค์ประกอบต่างๆจากอดีต เช่น สไตล์ ตัวผลิตภัณฑ์ หรือสื่อจากยุคต่างๆ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภค การระลึกถึงอดีตที่ดูเรียบง่ายและมีความสุขที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกสบายใจ จนทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ในที่สุด การตลาดแห่งความคิดถึงหรือการตลาดผ่านความทรงจำในอดีต ที่เรียกว่า Nostalgia Marketing คือ กลยุทธ์ที่ดึงเอาความทรงจำดีๆในอดีต มาสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภค โดยการอ้างอิงถึงจุดเด่นทางวัฒนธรรม เทรนด์ที่เกิดขึ้น หรือประสบการณ์ส่วนตัวในอดีต ที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกอบอุ่น ความคุ้นเคย และสร้างความสุขทางใจ กลยุทธ์นี้ได้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ที่อยากหวนกลับไปสู่อดีตอันเรียบง่ายและน่าประทับใจ พร้อมเชื่อมโยงอารมณ์เหล่านั้นให้เข้ากับแบรนด์หรือตัวของสินค้า ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการมองย้อนกลับไปในอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นการจินตนาการความเป็นอดีตแบบใหม่ให้เข้ากับปัจจุบันได้อย่างลงตัว

Old_Camera

Nostalgia Marketing ได้ผสมผสานการใช้กลิ่นอายของความทรงจำในอดีต เพื่อกระตุ้นอารมณ์ของผู้บริโภค เช่น การออกแบบ การใช้เสียงเพลง หรือเรื่องราวที่ทำให้ผู้คนหวนคิดถึงช่วงเวลาที่มีความหมาย โดยแนวคิดนี้เชื่อมโยงกับจิตวิทยาแห่งความคิดถึง ซึ่งก็คือ ความรู้สึกอ่อนไหว ความสุข และอาจปนความเศร้าจากการนึกถึงอดีต แต่เป็นการสร้างให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมในเชิงบวกอยู่เสมอ


เหุตผลที่กลยุทธ์ Nostalgia Marketing ใช้ได้ผลกับการสร้างแบรนด์

ความทรงจำในอดีตช่วยปลุกอารมณ์ที่ทรงพลัง เพราะมันเชื่อมโยงผู้คนกับความทรงจำที่มักเกี่ยวข้องกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือช่วงเวลาที่สำคัญๆ เมื่อแบรนด์สามารถนำพาผู้คนไปสู่ความรู้สึกเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการช่วยให้ผู้คนรู้สึกใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับแบรนด์มากขึ้นด้วย 3 เหตุผลสำคัญๆ ดังนี้

Nostalgia_Marketing_Effective_Components
  • ทำให้แบรนด์โดดเด่น (Remarkable)
    ในโลกปัจจุบันที่เร่งรีบ Nostalgia Marketing ช่วยเป็นจุดพักทางใจ ที่ทำให้แบรนด์แตกต่างจากคู่แข่งด้วยการสร้างความรู้สึกที่คุ้นเคยและน่าประทับใจ
  • สร้างความรู้สึกเชิงอารมณ์ (Emotional)
    Nostalgia Marketing สามารถสร้างอารมณ์ที่ลึกซึ้งที่ช่วยเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) เพราะเมื่อผู้บริโภครู้สึกดีและเชื่อมความทรงจำในอดีต พวกเขามักจะถ่ายทอดความรู้สึกดีๆเหล่านั้นมายังแบรนด์ด้วย
  • สร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (Sense of Belonging / Community)
    ผู้คนมักจะรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้ที่มีความทรงจำในแบบเดียวกัน เช่น ความเป็นแฟนคลับของวัฒนธรรมป๊อปในยุคหนึ่งๆ แบรนด์สามารถใช้ประสบการณ์ที่มีร่วมกันนี้สร้างชุมชนของผู้ที่ชื่นชอบ และเชื่อมโยงเข้ากับผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

หลักสำคัญของกลยุทธ์ Nostalgia Marketing

เพื่อให้ Nostalgia Marketing ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบรนด์ควรคำนึงถึงหลักการสำคัญๆดังต่อไปนี้

Nostalgia_Marketing_Principle
  • ความจริงใจและแท้จริง (Authenticity)
    ความทรงจำในอดีตจะได้ผลเมื่อรู้สึกและรับรู้ได้ถึงความจริงใจ แบรนด์ควรหลีกเลี่ยงการสร้างอะไรที่เกินจริง ซึ่งจำเป็นต้องเน้นการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เป็นจริงในอดีต
  • ความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายปัจจุบัน (Relevance)
    แม้ว่าจะเป็นการอ้างอิงถึงอดีตแต่ Nostalgia Marketing ควรตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันด้วยเช่นกัน แบรนด์ต้องเข้าใจองค์ประกอบที่เชื่อมโยงอารมณ์กับกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน และนำเสนอให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
  • เน้นความรู้สึกมากกว่าข้อมูล (Emotional Appeal)
    Nostalgia Marketing จะเน้นไปที่อารมณ์มากกว่าการให้ข้อมูล เป็นการสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำมากกว่ารายละเอียดของความทรงจำ เพื่อทำให้รู้สึกดีแทนการเน้นถึงประโยชน์ของสินค้า
  • การเล่าเรื่องที่สอดคล้องกัน (Storytelling)
    การใช้ Nostalgia Marketing ควรทำให้เรื่องราวมีความสอดคล้องกัน ทั้งภาพ สี หรือการใช้ภาษา เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ต่อเนื่องและดูสมจริง

ส่วนประกอบสำคัญของ Nostalgia Marketing

  1. ภาพที่ชัดเจนและการสร้างให้เกิดสุนทรียภาพ (Visuals and Aesthetics)
    การใช้ภาพและสีที่ทำให้ระลึกถึงอดีตเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอาจรวมถึงตัวหนังสือ การใช้สี ภาพถ่าย หรือบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยุคเก่าๆ
  2. การอ้างอิงถึงวัฒนธรรม (Cultural References)
    ควรมีการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมในยุคๆหนึ่ง เช่น ภาพยนตร์ รายการทีวี หรือเพลง ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ร่วมให้ผู้คนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเดียวกัน
  3. การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเก่าๆกลับมาใหม่ (Product or Service Re-releases)
    การนำสินค้าหรือคุณสมบัติในอดีตกลับมาอีกครั้ง เช่น รสชาติ บรรจุภัณฑ์ หรือคอลเลกชันพิเศษ เพื่อเป็นการกระตุ้นความทรงจำและความสนใจจากผู้ที่ยังคงจดจำผลิตภัณฑ์นั้นๆได้
  4. การใช้ภาษาและโทนเสียงที่สอดคล้องกัน (Language and Tone)
    การใช้ภาษาที่สะท้อนถึงยุคนั้นๆ เช่น สำนวนหรือคำพูดที่ทำให้รู้สึกเหมือนกลับไปยังช่วงเวลาเดิมๆ
  5. การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้สึกแบบเฉพาะบุคคล (Personalization Through Data)
    การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเข้าใจความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม และปรับแคมเปญให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคเพื่อสร้างความรู้สึกที่ให้การทำ Nostalgia Marketing ดูเข้าถึงและเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น
  6. ประสบการณ์เชิงโต้ตอบ (Interactive Experiences)
    การสร้างประสบการณ์เชิงโต้ตอบ เช่น การทำออกมาเป็นเกมหรือการจำลองเหตุการณ์ในอดีต ที่ช่วยให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมและรู้สึกเชื่อมโยงกับยุคสมัยนั้นได้ดียิ่งขึ้น
Bridge Between Houses in Italy

What's next?

รูปแบบของ Nostalgia Marketing

การตลาดแบบ Nostalgia Marketing มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบนั้นต่างก็ใช้ความทรงจำและการเชื่อมโยงอารมณ์ในอดีตทั้งสิ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้ 4 รูปแบบ ดังนี้

  1. ความคิดถึงแบบส่วนตัว (Personal Nostalgia)
    ความคิดถึงที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์เฉพาะบุคคล เช่น การโฆษณาลูกอมในยุค 90s ที่ทำให้นึกถึงการแบ่งปันกับเพื่อนในวัยเด็ก
  2. ความคิดถึงทางวัฒนธรรม (Cultural Nostalgia)
    การอ้างอิงถึงความทรงจำร่วมทางสังคม เช่น ความนิยมของเครื่องเล่นเกมในยุค 80s การกลับมาของแผ่นเสียง หรือเทปเพลงแบบเก่า
  3. การสร้างสรรค์แบบย้อนยุค (Retro Innovation)
    การนำเสนอแนวคิดในอดีตที่ปรับให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เช่น รองเท้าสไตล์วินเทจที่ผลิตด้วยวัสดุใหม่ๆ หรือรถยนต์คลาสสิกที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
  4. ความคิดถึงเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Nostalgia)
    การใช้สัญลักษณ์หรือภาพที่อาจไม่ใช่ประสบการณ์ตรงของกลุ่มเป้าหมาย แต่ยังคงสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ได้ เช่น การใช้การแต่งกายสไตล์ยุค 70s ที่เข้ากับคนรุ่นใหม่
vintage-1950s-pretty-woman

What's next?

ตัวอย่างของแคมเปญที่ใช้กลยุทธ์แบบ Nostalgia Marketing จนประสบความสำเร็จ

ในพักหลังๆเราจะเห็นแบรนด์ต่างๆหันมาสนใจใช้กลยุทธ์ Nostalgia Marketing เพื่อสร้างความรู้สึกประทับใจ และดึงอารมณ์ร่วมเพื่อกลับไปสู่ความทรงจำเก่าๆในอดีต และก็มีอยู่หลายแบรนด์ที่สามารถสร้างความทรงจำดีๆ จนกลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นในการย้อนคืนความทรงจำที่ยากจะลืมได้ เรามาดูตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Nostalgia Marketing กันครับ

1. Pepsi กับแคมเปญ “Throwback”

Pepsi นำเสนอการออกแบบกระป๋องแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยในแคมเปญ “Throwback” ซึ่งดึงความทรงจำของผู้บริโภคในสมัยเก่าๆกลับมา โดยแคมเปญ Throwback ของ Pepsi นั้นได้สรุปแก่นแท้ของการตลาดแบบ Nostalgia ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการฟื้นคืนโลโก้อันเป็นเอกลักษณ์แบบย้อนยุคและการใช้น้ำตาลจริงในตัวผลิตภัณฑ์ Pepsi ได้เข้าถึงความทรงจำทางอารมณ์ในช่วงเวลาที่เรียบง่ายยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นเก่า ขณะเดียวกันก็แนะนำให้ผู้ชมรุ่นเยาว์ได้สัมผัสถึงเสน่ห์แห่งยุคอดีต แคมเปญนี้ดึงดูดผู้ที่หลงใหลในความทรงจำของการเพลิดเพลินกับ Pepsi ในขวดแก้วกับช่วงวัยรุ่น ซึ่งชวนให้นึกถึงความรู้สึกอบอุ่นและคุ้นเคย โดยแนวความนี้ไม่เพียงแต่ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงผู้บริโภคกับมรดกของแบรนด์อีกครั้ง เป็นการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างอดีตและปัจจุบัน ด้วยการผสมผสานสุนทรียศาสตร์แบบสมัยเก่า (Vintage) ให้เข้ากับความทันสมัย (Modern) ทำให้ Pepsi ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนความคิดถึง ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดอันทรงพลัง เสริมสร้างความภักดีในหมู่แฟนๆที่รู้จักกันมานาน และจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของคนรุ่นใหม่

Pepsi_Throwback_Campaign

Source: https://www.facebook.com/PepsiCanada

2. Nintendo Mini SNES กับความคิดถึงที่อยู่ในมือของคุณ

Nintendo Mini SNES เป็นตัวอย่างที่ดีของ Nostalgia Marketing ที่ทำออกมาได้ดี ด้วยการนำเกมคอนโซล (Console) ยอดนิยมในยุค 80 กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบกะทัดรัดดูดีและทันสมัย ​​Nintendo ได้เข้าถึงความทรงจำทางอารมณ์ของนักเล่นเกมที่เติบโตมาในยุคทองของเกม 8 บิต อุปกรณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างรูปลักษณ์และความรู้สึกของเกมแบบต้นฉบับขึ้นมาใหม่เท่านั้น แต่ยังโหลดเกมคลาสสิกเอาไว้กว่า 30 เกม เช่น Super Mario Bros., The Legend of Zelda และ Donkey Kong ซึ่งทำให้ผู้เล่นนั้นย้อนกลับไปสู่วัยเด็กได้ในทันที

สำหรับแฟนๆรุ่นเก่านั้น Mini SNES มอบโอกาสในการหวนคิดถึงความทรงจำอันแสนประทับใจ ในการเล่นเกมกับเพื่อนและครอบครัว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่นั้น Nintendo ได้เผยให้เห็นถึงรากฐานของวัฒนธรรมการเล่นเกมที่ไปสู่ยุคใหม่ ความสำเร็จของแคมเปญอยู่ที่ความสามารถในการผสมผสานการออกแบบที่ย้อนยุค และการเล่นเกมที่แท้จริงให้เข้ากับความสะดวกสบายในยุคสมัยใหม่ เช่น การเชื่อมต่อ HDMI จนทำให้ Mini SNES ไม่ใช่แค่เพียงผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่มันกลายเป็นมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่นำพาคนรุ่นต่างๆมารวมกันผ่านการเล่นเกมในแบบสากล ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าแล้วว่าเมื่อความคิดถึงนั้นทำออกมาได้ดี ก็จะสามารถสะท้อนไปยังกลุ่มช่วงอายุต่างๆ และจุดประกายความรู้สึกที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวต่างๆได้

NintendoClassicMiniSNES

Source: https://www.nintendo.com/

3. McDonald กับการกลับมาของ McRib

ความคิดถึงที่กลับมาอีกครั้งกับ McRib ของ McDonald นับเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการตลาดแบบย้อนยุคที่เจริญรุ่งเรืองบนความไม่เที่ยงของตัวมันเอง โดย McRib เปิดตัวครั้งแรกในปี 1981 และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และได้มีการยุติเมนูนี้ไปเป็นบางช่วงเวลาเนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ซึ่ง McRib นั้นไม่ได้มีแค่รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น แต่ยังมีกลิ่นอายของความคิดถึงในทุกครั้งที่ได้หวนกลับมาอีกครั้ง ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่ธรรมดาทำ McRib ให้กลายเป็นมากกว่ารายการเมนู ซึ่งนับว่าเป็นการจุดประกายความทรงจำในอดีตได้ดีเลยทีเดียว

สำหรับลูกค้าที่มีอายุมากที่อยู่ในวัย Gen X ขึ้นไป McRib นั้นเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจถึงวัยเยาว์ และความสนุกสนานในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ และสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น Madonald ก็ได้สร้างเสน่ห์ในการสัมผัสประสบการณ์ให้กับรายการเมนู “ระดับตำนาน” กับความน่าดึงดูดใจที่ชวนให้นึกถึงอดีตที่เน้นย้ำถึงมรดก และความตื่นเต้นในการหวนคิดถึงหรือสร้างสรรค์ประเพณีที่เชื่อมโยงกับการปรากฏนั้นอีกครั้ง ความสำเร็จของ McRib แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องมีวางจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาความต่อเนื่อง โดยความพร้อมที่มีในเวลาที่จำกัด ก็สามารถช่วยกระตุ้นความคาดหวัง ความคิดถึง และการพูดถึงในทุกๆครั้งที่กลับมาได้

McRib_Returns

Source: https://michaelwtravels.boardingarea.com/2020/12/food-quest-the-mcdonalds-mcrib-returns-its-awesome/

4. Share a Coke กับแคมเปญส่งต่อถึงผู้คนทั่วโลก

แคมเปญ “Share a Coke” เป็นหนึ่งในแคมเปญที่ผสมผสานความเป็น Personalize ให้เข้ากับการตลาดเชิงอารมณ์ โดย Coca-Cola ได้เปิดตัวแคมเปญนี้ในปี 2011 แคมเปญนี้แทนที่โลโก้ Coca-Cola อันเป็นเอกลักษณ์บนขวดด้วยชื่อ ชื่อเล่น หรือวลีที่เหมือนกัน เช่น “เพื่อนที่ดีที่สุด” หรือ “แม่” แนวคิดนี้สนับสนุนให้ผู้คนค้นหาขวดที่มีชื่อของตนเองหรือของผู้อื่น แล้วแบ่งปันเป็นของขวัญแก่กันและกัน เสริมสร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกทางอารมณ์พร้อมกับประสบการณ์ที่สนุกสนาน ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่ๆที่ทำให้เกิดความคิดถึง สร้างความรู้สึกผูกพันแบบเป็นส่วนตัว และในขณะเดียวกันก็ยังสร้างความรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานกับเครื่องดื่มธรรมดาๆในชีวิตได้ในทุกๆวัน

แคมเปญนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้ขวดทุกขวดของ Coke นั้นรู้สึกพิเศษและไม่เหมือนใคร โดยเปลี่ยนการซื้อในแต่ละวันให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเชื่อมต่อและสร้างความทรงจำดีๆ การเชิญชวนให้ลูกค้าให้แบ่งปันสิ่งที่ตนเองค้นพบบนโซเชียลมีเดีย ได้กลายเป็นกระแสทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกเหนือจากการเพิ่มยอดขายแล้วแคมเปญนี้ยังเสริมสร้างเอกลักษณ์ของ Coca-Cola ในฐานะแบรนด์ที่เฉลิมฉลองความสุข ความสัมพันธ์ และแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของการเล่าเรื่องราวผ่านความรู้สึกทางอารมณ์ได้ชัดเจนมากที่สุดแคมเปญหนึ่งในโลก

share-a-coke_campaign

Source: https://www.brandvertising.ch/2024/05/coca-cola-share-a-coke-mexico/


Nostalgia Marketing คือ การนำเอาความรู้สึกและความทรงจำในอดีตกลับมาสร้างคุณค่าในปัจจุบัน โดยมันไม่ใช่เพียงการย้อนระลึกถึงสิ่งที่เคยมีมา แต่คือการจินตนาการใหม่อย่างสร้างสรรค์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในทุกยุคทุกสมัย หากแบรนด์เข้าใจแก่นของความคิดถึงและนำเสนอด้วยความจริงใจ Nostalgia Marketing จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและทรงพลังระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง


Share to friends


Related Posts

กลยุทธ์การสร้างความผูกพันด้วยการทำ Emotional Branding

กลยุทธ์ในการทำธุรกิจสำหรับยุคใหม่ คือ การสร้างแบรนด์ที่ทำให้เกิดความผูกพันเชิงอารมณ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า หรือที่เราเรียกว่า Emotional Branding โดยหากแบรนด์ของคุณสามารถสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ได้มากเท่าไหร่ ก็สามารถการันตีได้เลยครับว่าแบรนด์ของคุณจะมีโอกาสถูกจดจำ และนำไปสู่การขายสินค้าหรือบริการได้มากกว่าแบรนด์ที่ไม่มีการสร้างความผูกพันธ์เชิงอารมณ์ใดๆเลย


โฆษณาที่ส่งผลต่ออารมณ์ในการซื้อสินค้าและบริการ

โฆษณา (Advertising) เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารมวลชน (Mass Communications) ผ่านการซื้อช่วงเวลาบนโทรทัศน์หรือพื้นที่โฆษณาในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ บิลบอร์ด อิเล็กทรอนิกส์ หรือในรูปแบบออนไลน์ นอกเหนือจากการสร้างการรับรู้และการกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าหรือบริการแล้วนั้น โฆษณายังสามารถสื่อสารตำแหน่งของแบรนด์หรือธุรกิจของคุณได้อีกเช่นกัน


เหตุผลที่ต้องทำ Emotional Marketing เพื่อสร้างยอดขายให้ธุรกิจของคุณ

โดยปกติการที่คุณจะซื้อสินค้าอะไรสักอย่างเราจะใช้เหตุผลเป็นตัวนำ (Rational) ที่ต้องมีการคิดคำนวณความคุ้มค่าทั้งความจำเป็น ราคา คุณสมบัติ และประโยชน์ ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าอะไรสักอย่างโดยเฉพาะหากสินค้านั้นมีราคาค่อนข้างสูง แต่ช่วงหลังๆการสื่อและการทำการตลาดได้เปลี่ยนไปสู่การทำการตลาดเชิงอารมณ์ (Emotional Marketing)



copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์