
ในยุคที่เราอยู่กับข้อมูลข่าวสารแบบท่วมท้น ทำให้เรารับรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้ต้องการแค่ข้อมูลเพียงเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการความเชื่อมโยง และต้องการรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่าง และนี่คือจุดที่การเล่าเรื่อง (Stoytelling) ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ไม่ใช่เฉพาะในศาสตร์ของการสร้างแบรนด์ (Branding) หรือการตลาด (Marketing) แต่ยังรวมถึงการประชาสัมพันธ์ (Public Relations) โดยเฉพาะ PR สมัยใหม่ ที่ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในเชิงกลยุทธ์สำหรับแบรนด์ต่างๆ เพื่อการสร้างความโดดเด่น ดึงดูดความสนใจ สร้างความไว้วางใจ และท้ายที่สุด ก็เพื่อให้กลายเป็นที่น่าจดจำ
เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมกันครับว่า ความสำคัญของ “การเล่าเรื่องราวในการประชาสัมพันธ์” (PR Storytelling) สมัยใหม่ เป็นอย่างไร และสามารถนำมาปรับใช้กับการสร้างแบรนด์ให้น่าจดจำได้อย่างไร

ความสำคัญของ PR Storytelling สมัยใหม่
โดยพื้นฐานแล้วการประชาสัมพันธ์ (Public Relations – PR) คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ (Brand) และสาธารณชน (Public) แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว” แทบจะไม่สร้างความภักดี (Loyalty) ใดๆเลย สิ่งที่ผู้คนจดจำได้อย่างแท้จริง คือ “ความรู้สึกที่แบรนด์มอบให้” และนั่น คือ สิ่งที่การเล่าเรื่องมีประสิทธิภาพเพียงพอ จะเข้ามาช่วยแบรนด์ของคุณได้ โดยมีเหตุผลหลายประการ ดังนี้
- สร้างความผูกพันทางอารมณ์
เรื่องราวจะกระตุ้นส่วนต่างๆของสมอง ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกและความทรงจำ ทำให้ผู้ฟังเปิดรับข้อความของคุณมากขึ้น - สร้างความน่าเชื่อถือและการเข้าถึง
เรื่องราวที่เล่าได้ดีจะทำให้แบรนด์ของคุณมีความเป็นมนุษย์ และสร้างความเชื่อมโยงที่แท้จริงกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ - สร้างความแตกต่าง
ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง การเล่าเรื่องช่วยให้แบรนด์ของคุณโดดเด่น ด้วยการสื่อสารคุณค่าและบุคลิกภาพที่เป็นอัตลักษณ์ของคุณ - การดึงดูดสื่อ
นักข่าว สำนักข่าว รวมถึง Influencer มีแนวโน้มที่จะนำเสนอเรื่องราว มากกว่าข่าวประชาสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่น่าเบื่อ - การจดจำข้อความ
ผู้คนมีแนวโน้มที่จะจดจำข้อมูลได้มากกว่าถึง 22 เท่า เมื่อนำเสนอในรูปแบบของเรื่องราว (อ้างอิงจากการวิจัยของ Stanford)


Storytelling vs. Traditional PR Messaging
การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม (Traditional PR) พึ่งพาการประกาศ การนำเสนอสถิติ และข้อความที่ขัดเกลาอย่างมาก แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีความจำเป็น แต่กลยุทธ์เหล่านี้มักขาดความลึกซึ้งทางอารมณ์ การประชาสัมพันธ์สมัยใหม่ (Modern PR) จะนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาถักทอเป็นเรื่องราว (Story) ที่มีจุดมุ่งหมาย เร้าอารมณ์ และสอดคล้องกับวัฒนธรรม เราลองมาดูตัวอย่างวิธีการ PR ในแบบดั้งเดิมกับ PR เชิงเล่าเรื่องราวกันครับ
Traditional PR (ประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม) | Storytelling-Based PR (ประชาสัมพันธ์เชิงเล่าเรื่อง) |
---|---|
“บริษัทของเราได้เปิดตัวแอปฯใหม่” | “พบกับคุณชมพู่ คุณแม่ลูกสองที่เคยวุ่นวายกับการจัดการชีวิตประจำวัน แต่ด้วยแอปฯใหม่ของเรา ที่ช่วยให้ชีวิตของเธอง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ” |
“เราบริจาคเงินเพื่อการกุศล” | “เมื่อผู้ก่อตั้งของเราที่เคยสูญเสียบ้านจากเหตุอุทกภัย เธอได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือผู้อื่นในทุกๆโอกาส วันนี้เราจึงบริจาค 5% ของกำไร ให้กับโครงการฟื้นฟูภัยพิบัติ” |
“เราขยายตลาดสู่ต่างประเทศ” | “จากห้องแถวเล็กๆในกรุงเทพฯ กับความฝันของเราในวันนี้ ที่ไปไกลถึงโตเกียวและเบอร์ลิน และนี่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น” |
“CEO ของเราขึ้นพูดในงานสัมมนา” | “CEO ของเราเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กที่ต้องต่อสู้กับความยากจน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของพันธกิจ ที่เรามุ่งมั่นทำให้การศึกษาเข้าถึงได้สำหรับทุกคน” |
“เราสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน” | “ทุกผลิตภัณฑ์ของเราผลิตจากวัสดุรีไซเคิล โดยได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อของผู้ก่อตั้ง ซึ่งเคยเป็นชาวประมงที่ต่อสู้กับขยะพลาสติก ในทะเลมานานกว่า 30 ปี” |
“เราจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อพัฒนาการบริการ” | “หลังจากได้รับ Feedback จากลูกค้านับร้อย เกี่ยวกับเวลารอที่นาน เราจึงได้ต้อนรับแอนนา อดีตผู้จัดการบริการที่เคยบริหารโรงแรมหรูในกรุงโตเกียว มาร่วมพัฒนาทีมของเรา” |
“เราเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว” | “ด้วยแรงบันดาลใจจากผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยากได้สูตรที่อ่อนโยน เราใช้เวลากว่า 2 ปี ในการคิดค้นสูตร ที่ทั้งปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรัก” |
“ทีมของเราได้รับรางวัลในอุตสาหกรรม” | “เบื้องหลังรางวัลนี้ คือ ค่ำคืนที่เราอดหลับอดนอน ทั้งการรับฟัง Feedback จากลูกค้าหลายรอบ ด้วยทีมงานเล็กๆที่ไม่เคยย่อท้อ เพียงแค่ 4 คนเท่านั้น” |
หากมองจากตารางข้างต้นเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นในการทำ PR แบบดั้งเดิมจะพูดกันถึงวัตถุประสงค์แบบตรงๆ ว่าในการทำ PR นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร และเรามักจะนำเสนอตัวเลข สถิติ รวมถึงข้อมูลสนับสนุนเป็นหลัก แต่หากเสริมความเป็น PR Storytelling แบบสมัยใหม่เข้าไป รายละเอียดที่แทรกเข้าไปในเนื้อหา จะมีเรื่องราวและที่มาที่ไปในลักษณะของโครงสร้างแบบการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลัง ความประทับใจ ความใส่ใจ รวมถึงการสนับสนุนสิ่งต่างๆ

องค์ประกอบของ PR Storytelling ที่ดี
การเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมในการประชาสัมพันธ์ (PR) ไม่ได้หมายถึงการกุหรือแต่งเรื่องขึ้นมา แต่เป็นการค้นหาเรื่องราวที่แท้จริงในการเดินทางของแบรนด์ของคุณ (Real Journey) และนำเสนอเรื่องราวนั้นในรูปแบบที่น่าสนใจและดึงดูดใจ เรามาดูองค์ประกอบของ PR Storytelling ที่ดีกันครับ
1. จุดประสงค์ที่ชัดเจน (A Clear Purpose)
การมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน เป็นรากฐานสำคัญของการเล่าเรื่องในการประชาสัมพันธ์ ที่ช่วยให้คุณกำหนดทิศทางของเรื่องราว และมั่นใจได้ว่าเรื่องราวนั้นจะสื่อสาร สิ่งที่แบรนด์ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองพิจารณาว่าคุณต้องการให้ผู้ฟังได้รับรู้อะไร รู้สึกอย่างไร หรือทำอะไรหลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวนี้ การมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนจะช่วยให้เรื่องราวของคุณ มีเป้าหมายและไม่หลุดประเด็นง่ายๆ
ตัวอย่างเช่น “รองเท้าวิ่งแบรนด์หนึ่ง” ต้องการประชาสัมพันธ์รองเท้ารุ่นใหม่ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน และดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม “เรื่องราว” อาจเน้นไปที่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การคัดสรรวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ “การสื่อสารคุณค่าด้านความยั่งยืนของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่”

2. ตัวละครที่เกี่ยวข้อง (A Relatable Character)
เรื่องราวของคุณจำเป็นต้องมีตัวเอก ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ก่อตั้ง พนักงาน หรือแม้แต่ชุมชนที่คุณให้บริการ เพราะผู้คนมักจะเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่มีตัวละคร ที่พวกเขาสามารถเข้าใจและรู้สึกร่วมได้ การมีตัวละครที่น่าสนใจและมีมิติ จะช่วยให้เรื่องราวของคุณมีชีวิตชีวาและน่าติดตาม ลองคิดว่าใคร คือ หัวใจสำคัญของเรื่องราวของคุณ พวกเขามีแรงจูงใจอะไร มีความท้าทายอะไร และผู้ชมจะสามารถเอาใจช่วยพวกเขาได้อย่างไร การสร้างตัวละครที่เข้าถึงได้ จะช่วยสร้างความผูกพันทางอารมณ์กับผู้ชม
ตัวอย่างเช่น “กาแฟแบรนด์หนึ่ง” ต้องการเล่าเรื่องราวของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนชุมชนของแบรนด์ “เรื่องราว” อาจเป็นติดตามชีวิตของคุณลุงสมชาย เกษตรกรชาวสวนกาแฟ ที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ จนทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถส่งลูกเรียน และพัฒนาคุณภาพผลผลิตได้ “ตัวละครของคุณลุงสมชาย” ถือเป็นบุคคลธรรมดาที่ผู้ชมสามารถเข้าใจและรู้สึกเห็นใจได้

3. ความขัดแย้งหรือความท้าทาย (Conflict or Challenge)
เรื่องราวที่ราบรื่นมักจะไม่น่าสนใจ แต่การเกิดความขัดแย้งหรือความท้าทาย เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้ชมอยากรู้ว่า เรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร อุปสรรคที่ตัวละครหรือแบรนด์ต้องเผชิญ สามารถเป็นปัญหาภายใน ปัญหาภายนอก หรือแม้แต่การแข่งขัน การนำเสนอความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่น และความพยายามในการเอาชนะอุปสรรคนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น “บริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง” พัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้งานเทคโนโลยี แต่พวกเขาพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ยังคงรู้สึกไม่คุ้นเคยและต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ๆ “เรื่องราว” อาจเล่าถึงความพยายามของทีมพัฒนา “ในการทำความเข้าใจความกังวลของผู้สูงอายุ” ทดลองวิธีการสอนที่หลากหลาย และปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่ายที่สุด ความท้าทายนี้สร้างความตึงเครียดและทำให้ผู้ชมอยากรู้ ว่าบริษัทจะสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ได้อย่างไร

4. แนวทางแก้ไขปัญหา (A Resolution)
หลังจากเผชิญกับความขัดแย้งแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ต้องแสดงให้เห็นว่าปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างไร และผลลัพธ์นั้นคืออะไร การคลี่คลายควรแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของแบรนด์ (Brand Values) ความสามารถในการแก้ปัญหา และบทเรียนที่ได้รับ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เรื่องราวสมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ (Credible) และความไว้วางใจให้กับแบรนด์ (Brand Trust)
ตัวอย่างเช่น “ร้านอาหารแห่งหนึ่ง” เผชิญกับปัญหาขยะอาหารจำนวนมาก แต่พวกเขาได้นำระบบการจัดการขยะอาหารมาใช้ โดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก “เรื่องราว” อาจแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการนำระบบมาใช้ และผลลัพธ์ที่ได้ เช่น ปริมาณขยะที่ลดลง และผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน การคลี่คลายนี้ แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของแบรนด์

5. การกระตุ้นความรู้สึกร่วมทางอารมณ์ (Emotional Resonance)
เรื่องราวที่ดีที่สุด คือ เรื่องราวที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ของผู้ฟังได้ การสร้างความผูกพันทางอารมณ์ จะช่วยให้เรื่องราวของคุณน่าจดจำและสร้างผลกระทบทางจิตใจที่ยาวนาน ลองพิจารณาว่าคุณต้องการให้ผู้ชมรู้สึกอย่างไร หลังจากได้ฟังเรื่องราวของคุณที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และใช้ภาษา (Language) ภาพ (Visual) หรือรายละเอียด (Details) ที่สามารถกระตุ้นอารมณ์เหล่านั้นได้
ตัวอย่างเช่น “โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง” จัดโครงการช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรง โดยมีเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้กับโรคร้าย ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็งและความฝัน ที่จะได้กลับไปโรงเรียน “เรื่องราว” อาจเน้นไปที่ความกล้าหาญ ความหวัง และความฝันของเด็กหญิงคนนี้ รวมถึงความเสียสละของครอบครัวและทีมแพทย์ เรื่องราวนี้กระตุ้นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และอาจสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) ให้กับผู้ชม


ตัวอย่าง Storytelling กับ PR สมัยใหม่
Patagonia – กับเรื่องราวแห่งจุดมุ่งหมาย (Story of Purpose)
Patagonia สร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอเรื่องราว ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) หลักของแบรนด์ ซึ่งนั่นคือ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยพวกเขาไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้า แต่พวกเขาสร้างชุมชนของผู้ที่ใส่ใจในประเด็นเดียวกัน และเรื่องราวของนักกิจกรรมรวมถึงโครงการอนุรักษ์ต่างๆ ก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารคุณค่า และความมุ่งมั่นของแบรนด์
Dove – กับความงามที่แท้จริง (Real Beauty)
แคมเปญ “Real Beauty” ของ Dove เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้การเล่าเรื่อง เพื่อท้าทายมาตรฐานความงามแบบเดิมๆ การนำเสนอเรื่องราวที่แท้จริงของผู้หญิง (แทนที่จะใช้นางแบบที่ธรรมดาใช้กัน) ที่มีรูปร่างและภูมิหลังที่หลากหลาย สร้างความรู้สึกร่วมและความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ Dove เชื่อมโยงกับผู้บริโภคในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
Airbnb – เพราะทุกที่คือบ้าน (Belong Anywhere)
Airbnb ใช้เรื่องราวเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ ที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นส่วนตัว ที่ผู้ใช้ได้รับจากการเข้าพักในบ้านของผู้คนท้องถิ่น เรื่องราวเหล่านี้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม มิตรภาพ และความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ ทำให้ Airbnb เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่แค่ที่พัก แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ และความสัมพันธ์ที่ยาวนาน เรื่องราวเหล่านี้ได้เพิ่มมิติให้กับคำมั่นสัญญาของแบรนด์ (Brand Promise) ในเรื่องความเป็นเจ้าของ (Belonging) ได้อีกด้วย

วิธีการนำ PR Storytelling เข้าไปอยู่ใน PR Strategy
1. เริ่มต้นด้วย “ทำไม” (Start with “Why”)
การรู้ว่า “ทำไม” แบรนด์ของคุณถึงมีอยู่ถือเป็นรากฐานสำคัญ เรื่องราวที่ดีที่สุดจะสะท้อนให้เห็นถึง “แก่นแท้ของแบรนด์” (Brand Essence) ทำให้ผู้คนเข้าใจว่าคุณทำอะไร ทำไมถึงทำ และอะไรคือสิ่งที่คุณให้ความสำคัญ
2. ค้นหาเรื่องราวที่แท้จริงจากแบรนด์ของคุณ (Real Stories)
เรื่องราวที่ทรงพลังที่สุดมักมาจากความเป็นจริง พยายามมองหาเรื่องราวที่น่าสนใจ และเป็นของแท้ภายในแบรนด์ของคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของลูกค้า พนักงาน หรือเหตุการณ์สำคัญในการเติบโตของแบรนด์ ดังนั้นคุณควรมองหาคำรับรองจากลูกค้า (Testimonials) เส้นทางการเดินทางของผู้ก่อตั้ง (Founder’s Journey) ช่วงเวลาเบื้องหลัง (Background) หรือการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Invlovement) เรื่องราวในการประชาสัมพันธ์ของคุณอาจมีอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องนำมาเล่าและร้อยเรียงให้เป็นเรื่อง
3. ใช้การเล่าเรื่องแบบหลากหลายช่องทาง (Multi-Channel Storytelling)
กระจายเรื่องราวของคุณไปยังช่องทางต่างๆ ที่กลุ่มเป้าหมายของคุณใช้งานอยู่ โดยแต่ละช่องทางก็มีรูปแบบและวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การปรับเนื้อหาให้เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น
- เริ่มต้นด้วยสารคดีในรูปแบบวิดีโอ
- สู่การสัมภาษณ์ทางพอดแคสต์
- ทำเป็นซีรีส์การเล่าเรื่องบนโลกโซเชียลมีเดีย
- เพิ่มการเล่าเรื่องแบบโต้ตอบบนเว็บไซต์
- นำเสนอบทความบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
- รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นบนช่องทางดิจิทัลต่างๆ
4. ร่วมมือกับสื่ออย่างสร้างสรรค์ (Collaborate with Media Creatively)
แทนที่จะส่งข่าวประชาสัมพันธ์แบบเดิมๆ ลองนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ และมีมุมมองที่น่าดึงดูดใจให้กับสื่อมวลชน เพื่อให้พวกเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องราวของคุณ ดังนั้น คุณจำเป็นต้องทำงานร่วมกับนักข่าว (Journalists) และผู้สร้างสรรค์ (Creators) เพื่อทำให้เรื่องราวมีชีวิตชีวา ด้วยภาพและอารมณ์ผ่านเรื่องราว ที่ไม่ใช่แค่ข่าวประชาสัมพันธ์
5. วัดผลกระทบทางอารมณ์ (Measure Emotional Impact)
การวัดผลลัพธ์ของการเล่าเรื่องไม่ได้มีแค่ตัวเลขสถิติ แต่ยังรวมถึงความรู้สึก (Feelings) และการตอบสนองของผู้คน (Response) ดังนั้น คุณควรใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ความรู้สึกของแบรนด์ (Brand Sentiment Analysis) การมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย (Social Media Engagement) และน้ำเสียงของสื่อ (Media Tone) เพื่อวัดผลกระทบทางอารมณ์และการตอบสนองของผู้ชมอยู่ตลอดเวลา
แบรนด์ที่เล่าเรื่องราวมักจะได้เปรียบเสมอ เพราะการเล่าเรื่องราวสามารถเติมจิตวิญญาณ ให้กับความพยายามด้านประชาสัมพันธ์ของคุณ และมันแสดงให้เห็นว่า เบื้องหลังโลโก้และชื่อของแบรนด์นั้น มีผู้คนจริงๆ มีการต่อสู้จริงๆ และชัยชนะจริงๆ การเล่าเรื่องราวในการประชาสัมพันธ์ (PR Storytelling) จึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป “แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น” นั่นเอง