Clubhouse_Logo

หลายๆคนน่าจะรู้จัก Clubhouse ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างดี ซึ่งสร้างกระแสได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ถึงขนาดมีคนเขียนหนังสือออกมา เกี่ยวกับการสร้าง Influencer บน Clubhouse เลยทีเดียว แต่ผ่านมาระยะเวลาหนึ่ง แพลตฟอร์มที่ชื่อ Clubhouse กลับค่อยๆเลือนลางหายไป จนแทบจะจำชื่อไม่ได้แล้วว่าเคยมีอยู่ ในบทความนี้ผมจะมาเจาะลึกการเติบโต จนถึงช่วงของการล่มสลาย และบทเรียนจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Social Audio กันครับ (หมายเหตุ ทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์และสรุปรวม จากข้อมูลประกอบต่างๆ)

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Clubhouse

ช่วงกลางของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในช่วงต้นปี 2020 Clubhouse ได้ปรากฏตัวขึ้นในฐานะดาวรุ่ง ท่ามกลางสมรภูมิของโซเชียลมีเดียอันดุเดือด Clubhouse ซึ่งพัฒนาโดย Paul Davison และ Rohan Seth ได้นำเสนอสิ่งใหม่ ที่เรียกว่าห้องสนทนาเสียงสดแบบเปิด (live, drop-in audio chatrooms) ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าร่วมการสนทนา การสัมภาษณ์ และการอภิปรายในหัวข้อต่างๆได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่มีวิดีโอ ไม่มีข้อความ มีเพียงเสียงเท่านั้น แพลตฟอร์มนี้เปิดตัวในเดือนเมษายน ปี 2020 พร้อมความพิเศษ “ด้วยระบบเชิญเท่านั้น” ที่ใช้ได้เฉพาะบน iOS (ในช่วงแรก) และได้รับการยอมรับจากกลุ่ม Influencer ในวงการเทคโนโลยีและคนดัง เช่น Elon Musk, Mark Zuckerberg, Oprah Winfrey และ Drake ความพิเศษนี้สร้างปรากฎการณ์ FOMO (Fear of Missing Out) Link เป็นอย่างมาก ซึ่งช่วยให้ Clubhouse กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว เรามาดูช่วงเวลาของการเติบโตกันครับ

  • เมษายน 2020: มีการเปิดตัว Clubhouse ด้วยผู้ใช้น้อยกว่า 1,500 คน
  • พฤษภาคม 2020: Clubhouse มีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ แม้จะยังอยู่ในช่วงเบต้าก็ตาม
  • มกราคม 2021: Clubhouse มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน
  • กุมภาพันธ์ 2021: Clubhouse เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีผู้ใช้งานถึง 10 ล้านคน
  • เมษายน 2021: มูลค่าแตะจุดสูงสุดที่ 4 พันล้านดอลลาร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน เช่น Andreessen Horowitz

    ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด Clubhouse มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 10 ล้านครั้งต่อเดือน กลายเป็น Social App อันดับ 1 ในกว่า 30 ประเทศ

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Clubhouse

Clubhouse มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ โดย Clubhouse ชะลอการสร้างรายได้ และมุ่งเน้นไปที่ชุมชนและการเติบโตของผู้ใช้งาน บริษัทได้ทดลองกับรูปแบบรายได้อยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

  • การจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ ผ่านช่องทางให้ทิปและระบบการจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ผ่าน Stripe
  • จ่ายผ่าน Clubhouse Payments (เมษายน 2021) ด้วยเงินทิป 100% ที่มอบให้กับครีเอเตอร์ โดยแพลตฟอร์มไม่หักส่วนแบ่งใดๆ
  • ร่วมมือกับ Influencers และ Opinion Leaders เพื่อจัดห้องสนทนาที่มีชื่อเสียง
  • Clubhouse ต่อต้านการใช้โฆษณาแบบดั้งเดิมทั่วไป (Display Ads) โดยหวังที่จะสร้างความแตกต่าง

แม้จะมีการได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงแรก และมีฐานผู้ใช้จำนวนมาก แต่ Clubhouse แทบไม่มีรายได้ที่เป็นนัยสำคัญในช่วง 2 ปีแรก กลยุทธ์การสร้างรายได้ยังคงคลุมเครือ มีข้อจำกัด และมุ่งเน้นไปที่ ประสบการณ์ผู้ใช้มากกว่ารายได้ที่ยั่งยืน

ClubhouseApp

Image Source: https://nrb.org/5-things-you-should-know-about-clubhouse/

ทำไม Clubhouse ถึงเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว

โดยรวมแล้วการล่มสลายของ Clubhouse เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกหลังการระบาดใหญ่ การแข่งขันที่รุนแรงจากแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว ข้อจำกัดของรูปแบบเนื้อหาแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงความท้าทายในการสร้างรายได้และรักษาผู้สร้างเนื้อหา ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของแพลตฟอร์มในระยะยาว เรามาดูรายละเอียดที่สรุปออกมาใน 6 ข้อ กันครับ

  1. การกลับสู่ภาวะปกติหลัง COVID-19
    Clubhouse ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการล็อกดาวน์ เมื่อผู้คนต้องอยู่บ้านและมองหากิจกรรมทางสังคมออนไลน์ แต่เมื่อโลกเริ่มเปิดอีกครั้ง ผู้คนกลับไปทำงาน เดินทาง และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง ทำให้การสนทนาเสียงสดที่ยาวนานนั้น “ไม่สะดวกและไม่จำเป็น” อีกต่อไป ความต้องการในการเข้าร่วมห้องสนทนาแบบเรียลไทม์ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีทางเลือกอื่นในการใช้เวลามากขึ้น
  2. กระแสเกินจริง ที่มาเร็วเกินไป
    แพลตฟอร์มเติบโตเร็วเกินไปจน “การควบคุมคุณภาพลดลง” ห้องสนทนากลายเป็นความ “วุ่นวาย ซ้ำซาก หรือเต็มไปด้วยเนื้อหาคุณภาพต่ำ” ผู้ใช้งานกลุ่มแรกๆจำนวนมาก “เลิกใช้งาน” หลังจากความแปลกใหม่จางหายไป การเติบโตที่รวดเร็วเกินไปทำให้ Clubhouse ไม่สามารถรักษามาตรฐานของเนื้อหาและการสนทนาได้
  3. ขาดความแตกต่าง
    ในช่วงกลางปี 2021 แพลตฟอร์มใหญ่อื่นๆ เช่น Twitter (Spaces), Facebook (Live Audio Rooms), Spotify (Greenroom), LinkedIn หรือแม้แต่ Reddit ต่างก็เปิดตัวฟีเจอร์ที่คล้ายคลึงกัน แพลตฟอร์มเหล่านี้มี “ฐานผู้ใช้อยู่แล้ว” ในขณะที่ Clubhouse “ไม่ได้สร้างความภักดีที่แข็งแกร่ง” ที่พอจะแข่งขันได้ เมื่อมีตัวเลือกที่สะดวกและเข้าถึงง่ายกว่า ผู้ใช้จึงหันไปใช้แพลตฟอร์มที่คุ้นเคย
  4. ไม่มีเนื้อหาแบบนำกลับมาฟังได้ใหม่
    ผู้ใช้ “ต้องออนไลน์ในเวลาจริง” เท่านั้น จึงจะสามารถมีส่วนร่วมได้ แตกต่างจากพอดแคสต์หรือ YouTube ที่สามารถเล่นซ้ำหรือมีคลังเนื้อหา Clubhouse พลาดโอกาสในการนำเนื้อหาสดกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เนื้อหาที่สร้างขึ้นมีอายุการใช้งานสั้นมาก
  5. ความน่าเบื่อของแพลตฟอร์มและความไม่สนใจของผู้สร้างเนื้อหา
    ผู้สร้างเนื้อหา (Content Creators) “ประสบปัญหาในการสร้างรายได้หรือรักษาผู้ฟัง” เนื่องจากไม่มีตัวเลือกการเล่นซ้ำ เนื้อหาจึง “ไม่มีอายุการเก็บรักษา” แพลตฟอร์มกลายเป็นเหมือน “พื้นที่สำหรับการแสดงสดเพียงครั้งเดียว” มากกว่าที่จะเป็นระบบนิเวศสำหรับผู้สร้างเนื้อหา (Content Creators) ที่ยั่งยืน การที่ผู้สร้างไม่สามารถสร้างรายได้ หรือต่อยอดจากเนื้อหาของตนเองได้ ทำให้ความน่าสนใจในการสร้างสรรค์เนื้อหาบนแพลตฟอร์มลดลง
  6. การจ้างงานเกินตัวและการประเมินมูลค่าสูงเกินไป
    ในเดือนพฤษภาคม ปี 2021 Clubhouse จ้างงานอย่างรวดเร็ว และขยายขนาดการดำเนินงานตามกระแสความนิยม แต่ภายในเดือนเมษายน 2023 บริษัทได้ “เลิกจ้างพนักงานกว่า 50%” โดยอ้างว่าจำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้างใหม่” และปรับตัวให้เข้ากับทีมที่เล็กลง โดยเน้นที่ผลิตภัณฑ์มากขึ้น การขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเพียงพอ นำไปสู่ปัญหาหนักอึ้งเมื่อกระแสความนิยมเริ่มลดลง

บทเรียนที่สำคัญสำหรับกรณีของ Clubhouse

การเดินทางของ Clubhouse จากแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่สร้างกระแสไปทั่วโลก สู่การเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว ได้ทิ้งไว้ซึ่งบทเรียนอันล้ำค่ามากมาย สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ และธุรกิจโดยทั่วไป บทเรียนเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ และความล้มเหลวของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ในยุคดิจิทัลนี้ เรามาดูบทเรียนสำคัญ 6 ข้อ ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของ Clubhouse กันครับ

1. การเป็นไวรัลโดยไม่มีการรักษาผู้ใช้งานเป็นสิ่งที่อันตราย

Clubhouse อาศัยกลยุทธ์การสร้างความรู้สึกแบบ FOMO (Fear of Missing Out) Link ผ่านระบบการเชิญ และจำกัดเฉพาะผู้ใช้ iOS ในช่วงแรก ซึ่งประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้คนจำนวนมาก และสร้างกระแสได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ไม่ได้มาพร้อมกับ “คุณค่า” (Values) หรือ “ประโยชน์ใช้สอย” (Benefits) ที่ยั่งยืนสำหรับผู้ใช้ในระยะยาว เมื่อความแปลกใหม่จางหายไป และผู้ใช้ไม่พบเหตุผลที่น่าสนใจเพียงพอ ในการกลับมาใช้งานอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็เลิกใช้งานไปในที่สุด บทเรียนนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างกระแส และความตื่นเต้นในช่วงต้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การรักษาผู้ใช้งานไว้ในระยะยาวต้องอาศัย “คุณค่าที่แท้จริง” (Genuine Values) และ “ประโยชน์” (Benefits) ที่ผู้ใช้งาน ได้รับจากการใช้งานแพลตฟอร์มอย่างสม่ำเสมอ

กระแสแบบไวรัลเพียงอย่างเดียว อาจไม่เท่ากับการสร้าง
คุณค่าและการรักษาผู้ใช้งาน


2. เวลาไม่ใช่ทุกสิ่ง

การเปิดตัวของ Clubhouse ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ถือเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากผู้คนมองหาช่องทางในการเชื่อมต่อ และสื่อสารกันทางออนไลน์เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ มีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น และมีเวลาว่างในการเข้าร่วม การสนทนาเสียงสดที่ยาวนานน้อยลง Clubhouse ไม่ได้ปรับตัวหรือพัฒนาคุณสมบัติใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้งาน การไม่สามารถวิวัฒนาการผลิตภัณฑ์ ให้เข้ากับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนไป ทำให้ความน่าสนใจและประโยชน์ใช้สอยของแพลตฟอร์มลดลง

การฉกฉวยโอกาสเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้
หากไม่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์


3. การสร้างรายได้เป็นสิ่งสำคัญ

แม้ว่า Clubhouse จะมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมากในช่วงหนึ่ง แต่การขาด “กลยุทธ์การสร้างรายได้ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ” กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ เพราะธุรกิจที่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน จะประสบปัญหาหนักในการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ รักษาการประสิทธิภาพการดำเนินงาน และแข่งขันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ Clubhouse ไม่ได้นำเสนอรูปแบบการสร้างรายได้ทั่วไป เช่น โฆษณา หรือคุณสมบัติพิเศษ ที่ผู้ใช้ต้องเสียเงินเพื่อเข้าถึง นอกจากนี้ ยังขาดเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้สร้างเนื้อหา (Content Creators) สามารถสร้างรายได้ จากผลงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจ ในการสร้างสรรค์เนื้อหาบนแพลตฟอร์มในระยะยาว

แม้จะมีฐานผู้ใช้งานใหญ่แค่ไหนก็ตาม
แต่หากไร้ซึ่งการสร้างรายได้ที่ชัดเจน ทำอะไรก็ไม่ยั่งยืน


4. จงระวังนักลอกเลียนแบบ

ความสำเร็จและความแปลกใหม่ของ Clubhouse ดึงดูดความสนใจ ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่อื่นๆ ที่มีฐานผู้ใช้งานอยู่แล้ว แพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถ “คัดลอก” หรือ “พัฒนา” ฟีเจอร์ที่คล้ายคลึงกับ Clubhouse ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีทรัพยากรและฐานผู้ใช้ที่ใหญ่กว่า หาก Clubhouse ไม่มี “ป้อมปราการ” ที่แข็งแกร่งเพียงพอ เช่น ชุมชนที่มีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ เครื่องมือหรือคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริง หรือความภักดีต่อแบรนด์ที่สูง ธุรกิจสตาร์ทอัพก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เมื่อเผชิญกับการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหญ่

ภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ การที่คู่แข่ง
สามารถเลียนแบบได้ง่ายๆ หากไม่มีอะไรที่เจ๋งมากเพียงพอ


5. ระบบนิเวศของ Content Creator ในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์มที่เน้นเนื้อหา (Content Platforms) เช่น YouTube, Instagram และ TikTok เติบโตและประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากพวกเขาสร้าง “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) ที่สนับสนุนและให้รางวัลแก่ผู้สร้างเนื้อหา (Content Creators) อย่างจริงจัง ผู้สร้างจึงมีโอกาสในการสร้างรายได้ เติบโต และสร้างฐานผู้ติดตามของตนเอง ในขณะที่ Clubhouse มอบ “เวที” ให้ผู้คนมาพูดคุยกัน แต่กลับ “ขาดแรงจูงใจระยะยาว” หรือ “โครงสร้างการสร้างรายได้” ที่ชัดเจนสำหรับผู้สร้างเนื้อหา (Content Creators) ทำให้ผู้สร้างไม่รู้สึกถึงผลตอบแทนที่คุ้มค่า ในการลงทุนเวลาและความพยายามในการสร้างสรรค์เนื้อหา ที่มีคุณภาพบนแพลตฟอร์มในระยะยาว

ทุกๆแพลตฟอร์มบนโลก มักจะเติบโตด้วยการสนับสนุน
ผู้สร้างเนื้อหา (Content Creators)


6. ความพิเศษสร้างกระแส ไม่ใช่สร้างความภักดี

กลยุทธ์การสร้างความพิเศษในช่วงเริ่มต้นของ Clubhouse (ระบบเชิญเท่านั้นและใช้งานได้เฉพาะบนระบบปฏิบัติการ iOS) สามารถสร้าง “กระแส” ความสนใจ และความรู้สึกพิเศษได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ “กีดกัน” ผู้ใช้งานจำนวนมากที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android และเมื่อ Clubhouse เปิดให้ทุกคนใช้งานได้ในภายหลัง ผู้ใช้กลุ่มที่ถูกกีดกันในช่วงแรก อาจไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของหรือความผูกพันกับแพลตฟอร์ม และอาจไม่กลับมาใช้งานแม้ว่าจะไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงอีกต่อไป บทเรียนนี้สอนว่าความพิเศษอาจสร้างความตื่นเต้นในช่วงสั้นๆ แต่ไม่สามารถสร้าง “ความภักดี” ในระยะยาวได้ หากผู้ใช้จำนวนมากรู้สึกว่าถูกละเลยหรือถูกกีดกันตั้งแต่แรก

ความพิเศษสร้างความน่าสนใจ แต่ความภักดีต้องสร้างด้วยอย่างอื่น
การลืมใครไว้ข้างหลัง (โดยไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ)

อาจส่งผลอย่างร้ายแรงกว่าที่คิด

ตารางเปรียบเทียบ Clubhouse กับแพลตฟอร์มอื่นๆ

ในขณะที่ Clubhouse เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ สำหรับการสนทนาเสียงสด (Live Audio Conversation) ในช่วงการระบาดใหญ่ แต่แนวคิดหลักก็ไม่ได้ใหม่ไปทั้งหมด และก็ไม่ได้มีความเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่ได้นาน เมื่อเราลองนำมาเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ

แพลตฟอร์มความคล้ายกับ Clubhouseความแตกต่างหลักๆสถานะ / ผลลัพธ์ปัจจุบัน
Twitter Spacesห้องสนทนาเสียงสดแบบเปิด
ที่ให้ใครก็เข้าร่วมได้
เชื่อมกับ Twitter โดยตรง ใช้ฐานผู้ติดตามที่มีอยู่แล้วยังมีการใช้งานอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มข่าวและ Influencers
Spotify Liveห้องสนทนาเสียงสด เน้นเนื้อหาบันเทิงและพอดแคสต์เชื่อมกับ Spotify มีฐานผู้ฟังมาก แต่เน้นบันเทิงเฉพาะทางปิดตัวลงในปี 2023 เนื่องจากผู้ใช้งานไม่เติบโตเพียงพอ
Discord Stage Channelsห้องพูดคุยเสียงสดในกลุ่มชุมชนผู้ใช้งานใช้ในกลุ่มเซิร์ฟเวอร์ของ Discord และมีชุมชนที่เหนียวแน่นยังได้รับความนิยมในกลุ่มเกมเมอร์ และชุมชนเฉพาะกลุ่ม
LinkedIn Audio Eventsห้องเสียงสำหรับผู้เชี่ยวชาญ และการพูดในเชิงอาชีพผูกกับโปรไฟล์การทำงาน ที่เหมาะกับการสร้าง Thought Leadershipยังมีใช้งานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มการทำงาน
Zoom (Audio/Webinar)ใช้เสียงในรูปแบบสัมมนา
หรือพูดคุยได้
ใช้ในหลายบริบท เช่น ประชุม สัมมนา หรือสอนออนไลน์ยังคงเป็นแพลตฟอร์มการประชุมยอดนิยมทั่วโลก
Reddit Talkห้องเสียงในแต่ละ Subreddit ตามหัวข้อสนทนาผูกกับชุมชน Reddit ที่มีอยู่แล้วปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2023

Clubhouse เริ่มต้นจากการเป็นผู้บุกเบิกการสนทนาเสียงสด (Live Audio Conversation) แบบเปิดให้เข้าร่วมได้ แนวคิดของมันก็ดึงดูดความสนใจจากผู้เล่นรายใหญ่ ในวงการเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้จำลองรูปแบบดังกล่าว โดยมักจะมาพร้อมกับข้อได้เปรียบเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น Twitter Spaces นำเสนอฟังก์ชั่นที่แทบจะเหมือนกัน แต่ได้รวมเข้ากับเครือข่ายสังคมเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้เสียงแบบเรียลไทม์เติบโตได้ดีในกลุ่ม Influencers นักข่าว และชุมชนที่ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มนั้นแล้ว ฐานผู้ใช้ที่มีอยู่ของ Twitter ทำให้ Spaces มีความได้เปรียบโดยธรรมชาติ เนื่องจากผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสร้างผู้ติดตามใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น

ในขณะเดียวกัน Spotify Live (เดิมชื่อ Greenroom) มุ่งเป้าไปที่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและดนตรี โดยหวังที่จะใช้ประโยชน์จากฐานผู้ฟังจำนวนมาก รวมถึงระบบนิเวศพอดแคสต์ของ Spotify แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อได้เปรียบนี้ Spotify Live ก็ปิดตัวลงในปี 2023 เนื่องจากขาดแรงดึงดูดจากผู้ใช้งาน ซึ่งบ่งชี้ว่าแม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็ไม่ได้สามารถรับประกันใดๆได้ หากไม่มีกรณีกลุ่มผู้ใช้งานที่เหนียวแน่น

Discord ซึ่งเป็นที่รักของคนชุมชนเกมและชุมชนออนไลน์เฉพาะกลุ่ม ได้เปิดตัว Stage Channels ซึ่งนำเสนอการสนทนาเสียงภายในเซิร์ฟเวอร์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจาก Clubhouse โดยโครงสร้างแบบชุมชนและเครื่องมือเสียงที่ยืดหยุ่นของ Discord ทำให้ผู้ใช้มีเหตุผลที่จะอยู่ต่อและกลับมาใช้งาน (สิ่งที่ Discord ทำ คือ ทำให้เสียงกลายเป็นแค่ฟีเจอร์หนึ่ง ที่ไม่ใช่การเป็นตัวผลิตภัณฑ์ทั้งหมด)

LinkedIn Audio Events ก็เข้ามาในตลาดนี้เช่นกัน โดยสร้างตลาดเฉพาะในด้านเครือข่ายมืออาชีพ เนื่องจากเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางอาชีพของผู้ใช้งาน ห้องสนทนาเสียงเหล่านี้จึงได้รับความนิยม ในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับผู้นำทางความคิด (Thought Leadership) การอภิปรายแบบคณะ (Panel Discussions) และการสนทนาเฉพาะอุตสาหกรรม (Industry-Specific Discussions) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ Clubhouse พยายามเข้ามา แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องตามบริบทเท่า

แม้แต่ Zoom ซึ่งไม่ใช่เครือข่ายสังคม ก็แข่งขันกับ Clubhouse โดยทางอ้อม อินเทอร์เฟซที่คุ้นเคยและเชื่อถือได้ และการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการประชุม คลาสเรียน หรือสัมมนาผ่านเว็บ ทำให้ Zoom เป็นตัวเลือกที่ใช้งานได้จริงสำหรับการโต้ตอบด้วยเสียง ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และสำหรับหลายๆคนนั้น Zoom ถือว่าใช้งานได้ดีกว่า

Reddit Talk ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายในชุมชน Subreddit ดูเหมือนจะมีอนาคตไกลด้วยโครงสร้างที่เน้นหัวข้อ แต่ก็ถูกปิดตัวลงในปี 2023 เช่นกัน ซึ่งตอกย้ำแนวคิดที่ว่า หากไม่มีความแตกต่างที่แข็งแกร่งและการรักษาผู้ใช้งาน แม้แต่แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ก็ยังประสบปัญหาในการรักษารูปแบบเสียงสดเอาไว้ได้


กล่าวโดยสรุป คือ ในขณะที่ Clubhouse ได้นำเสนอแนวโน้มที่น่าตื่นเต้น คู่แข่งก็แซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการรวมเสียงเข้ากับแพลตฟอร์มที่มีชุมชน (Community) ผู้สร้าง (Creators) และเนื้อหา (Content) อยู่แล้ว แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่ความแปลกใหม่ พวกเขาได้เพิ่มคุณค่าให้กับผู้ใช้งาน ผ่านความสะดวกสบาย การบูรณาการ การสร้างรายได้ และความยืดหยุ่น ในการใช้งานหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Clubhouse ไม่สามารถขยายขนาดได้ทันเวลานั่นเอง


Share to friends


Related Posts

Case Study : กลยุทธ์การตลาดของ Google

Google เป็น Search Engine อันดับหนึ่งของโลกที่จัดอยู่ในธุรกิจประเภทเทคโนโลยี นับเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกเป็นอันดับที่ 2 จากการจัดอันดับโดย Forbes ในปี 2019 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 207.5 พันล้านเหรียญ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาขามากกว่า 70 สาขา ใน 40 ประเทศทั่วโลก


Case Study: ตัวอย่างการทำ Business Model Canvas (BMC) ของ Netflix

Netflix แพลตฟอร์ม Online Streaming ความบันเทิงรูปแบบใหม่ ที่เริ่มต้นธุรกิจในปี 1997 โดย Reed Hastings และ Marc Randolph ในฐานะผู้ให้บริการเช่า DVD และในเวลาต่อมาในช่วงปี 2007 Netflix ก็ได้พลิกโฉมอุตสาหกรรมบันเทิง ด้วยการนำเสนอวิดีโอสตรีมมิ่งแบบออนดีมานด์ (On-Demand Video Streaming) ด้วยความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์คอนเทนต์ ที่ตรงตามความต้องการเฉพาะแบบบุคคล และที่โด่งดังก็เห็นจะเป็นการลงทุนในผลงานต้นฉบับ (Original Content) อย่าง Stranger Things และ The Crown ที่ทำให้ Netflix กลายเป็น Online Streaming Platform ระดับโลก ด้วยการมุ่งเน้นในการให้คำแนะนำกับการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven)


Case Study: Apple กับตัวอย่างการทำ Business Model Canvas (BMC)

Apple มีชื่อเสียงในการก้าวข้ามขีดจำกัดทางนวัตกรรม โดยนำเสนอเทคโนโลยีและคุณสมบัติอันล้ำสมัยในตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ชิป M1, M2, M3 และ M4 รวมถึง Apple Silicon ที่ออกแบบโดย Apple ที่มอบความเร็วและประสิทธิภาพการใช้งานที่ไม่มีใครเทียบได้ มีระบบ Face ID และ Touch ID เทคโนโลยีการตรวจสอบ Biometric การสร้างประสบการณ์ความแบบเสมือนจริง (Augmented Reality – AR) ที่ได้รับการพัฒนาบน iPad และ iPhone



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์