
สุขภาพของแบรนด์ (Brand Health) ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จวิธีหนึ่งของแบรนด์และการทำธุรกิจ โดยการวัดสุขภาพของแบรนด์จะสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมดของทั้งองค์กรและธุรกิจ ว่าคุณมีความเป็นอยู่ดีมากน้อยแค่ไหนซึ่งนั่นเป็นตัวตัดสินทั้งในเรื่องของคุณภาพของสินค้า/บริการ ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ ความน่าเชื่อถือ ที่ลูกค้าและผู้ใช้บริการนั้นมีต่อแบรนด์และธุรกิจของคุณ โดยสุขภาพของแบรนด์ (Brand Health) นั้นก็ประกอบไปด้วยหลากหลายปัจจัยและหลากหลายมิติครับ และสุขภาพของแบรนด์ (Brand Health) นั้นจะทำให้คุณเห็นว่าคุณมีความโดดเด่นและแตกต่างมากขนาดไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แล้วตัวชี้วัดสุขภาพของแบรนด์ (Brand Health) นั้นมีอะไรบ้าง เรามาทำความรู้จักในบทความนี้กันครับ

10 ตัวชี้วัดสำคัญกับการตรวจสุขภาพของแบรนด์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของธุรกิจคุณ
การรู้จักตัวชี้วัดสุขภาพของแบรนด์ (Brand Health) นอกจากจะช่วยให้คุณเข้าใจในวิธีการวัดผลความสำเร็จของแบรนด์ได้แล้ว Brand Health ยังสามารถทำให้คุณหาวิธีพัฒนาและปรับปรุงให้สามารถช่วงชิงพื้นที่ในจิตใจของลูกค้าได้อีกด้วย
1. Brand Awareness
การรับรู้ในตัวแบรนด์ หรือ Brand Awareness ถือเป็นตัวชี้วัดความคุ้นเคยในชื่อหรือตัวแบรนด์ของลูกค้า โดย Brand Awareness นั้นเป็นตัวชี้วัดที่จะช่วยให้คุณรู้ว่าความพยายามในการทำการตลาดหรือการสื่อสารแบรนด์ มันเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดไหนและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
2. Brand Reputation
ชื่อเสียงของแบรนด์ หรือ Brand Reputation ถือเป็นตัวชี้วัดว่าแบรนด์ของคุณมีคนพูดถึงในเชิงบวกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องของปัจจัยอย่างตัวสินค้า การบริการ และการบริการหลังการขาย โดยตัวชี้วัดนี้จะทำให้คุณเห็นว่ามีอะไรบ้างที่คุณควรปรับปรุงในสายตาของลูกค้า
3. Brand Positioning
ตำแหน่งของแบรนด์ หรือ Brand Positioning ถือเป็นตัวชี้วัดถึงตำแหน่งของธุรกิจในตลาดที่ทำการแข่งขันนั้นๆ เมื่อนำไปเทียบกับคู่แข่งในตลาดเดียวกัน ธุรกิจจะใช้ตัวชี้วัดนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าลูกค้านั้นได้รับคุณค่าอะไรจากแบรนด์ของคุณ ทำไมลูกค้าถึงชื่นชอบแบรนด์ของคุณมากกว่าคู่แข่ง
4. Share of Voice (SoV)
สัดส่วนการพูดถึงแบรนด์ หรือ Share of Voice (SoV) ถือเป็นตัวชี้วัดว่ามีใครพูดถึงแบรนด์ของคุณเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันในตลาด ว่าเราอยู่ลำดับหรืออันดับไหนในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยังช่วยให้รับรู้ได้ด้วยว่าลูกค้า ผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายมองเราเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ (Brand Image) แบบไหน และเมื่อนึกถึงแบรนด์ของเราจะนึกถึงอย่างไร
5. Net Promoter Score (NPS)
ความพึงพอใจของลูกค้า หรือ Net Promoter Score (NPS) ถือเป็นตัวชี้วัดความพึงพอใจของลูกค้า หากลูกค้าพึงพอใจในตัวสินค้าหรือบริการของแบรนด์คุณก็จะมีโอกาสที่ลูกค้าจะสนับสนุนสินค้าต่อไป และยังบอกต่อให้กับคนอื่นๆหันมาใช้สินค้าหรือบริการแบรนด์ของคุณในอนาคต โดย Net Promoter Score (NPS) ยังสามารถนำมาวัดเรื่องระดับความภักดีต่อแบรนด์ ได้อีกด้วย
6. Brand Equity
คุณค่าของแบรนด์ หรือ Brand Equity ถือเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมโยงด้านคุณค่าระหว่างแบรนด์กับลูกค้าของคุณ ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าลูกค้ารับรู้ถึงตัวแบรนด์ว่าอย่างไร ผ่านประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับแบรนด์นั้นๆ ถ้าแบรนด์ของคุณมอบแต่สิ่งดีๆให้กับลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวาทั้งคุณภาพและการบริการ ก็จะทำให้ Brand Equity
ของคุณนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากซึ่งเรียกว่าเป็นความผูกพันธ์ที่มีต่อแบรนด์ได้เลยทีเดียว
7. Brand Association
ความเชื่อมโยงกับแบรนด์ หรือ Brand Association ถือเป็นตัวชี้วัดถึงความเชื่อมโยงบางสิ่งในจิตใจของลูกค้ากับสิ่งที่แบรนด์นำเสนอ โดยหากลูกค้าสามารถเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้อย่างขึ้นใจ ก็จะสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ของคุณกับคู่แข่งขันในตลาดได้ เช่น หากพูดถึงแบรนด์มือถือที่คุณภาพดีเยี่ยมจะนึกถึงแบรนด์ A โดยจะไม่นึกถึงแบรนด์อื่นๆเลย
8. Brand Loyalty
ความภักดีต่อแบรนด์ หรือ Brand Loyalty ถือเป็นตัวชี้วัดว่าลูกค้านั้นจงรักภักดีต่อแบรนด์และธุรกิจของคุณมากขนาดไหน โดยตัวชี้วัดนี้จะสะท้อนให้เห็นทั้งความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมที่ส่งผลให้ลูกค้าสนับสนุนแบรนด์ของคุณไปตลอด
9. Brand Advocacy
การสนับสนุนแบรนด์ หรือ Brand Advocacy ถือเป็นตัวชี้วัดว่าลูกค้าอยากที่จะบอกต่อสินค้าหรือบริการของแบรนด์ให้คนอื่นๆได้รับรู้มากขนาดไหน ซึ่งตัวชี้วัดนี้นอกจากจะทำให้คุณรู้ว่าลูกค้ามีความภักดีต่อแบรนด์
แล้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างความภักดีต่อแบรนด์
ให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆได้อีกด้วย
10. Employee Engagement
การมีส่วนร่วมของพนักงาน หรือ Employee Engagement ถือเป็นตัวชี้วัดว่าพนักงานได้รับแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจเพื่อทำงานกับองค์กรของคุณมากน้อยขนาดไหน พวกเขามีความสุขกับการทำงานนั้นๆหรือไม่ ตัวชี้วัดนี้สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานมีความสุขและมีความภักดีกับแบรนด์และธุรกิจของคุณมากน้อยเพียงใด
ตัวชี้วัดสำคัญทั้ง 10 อย่างที่ผมได้สรุปมานั้นถือว่าเป็นตัวชี้วัดหลักๆที่นิยมใช้สำหรับการตรวจสุขภาพของแบรนด์ (Brand Health) ซึ่งนับว่าการตรวจสุขภาพของแบรนด์นั้นได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคของออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่เปิดโอกาสให้คุณสามารถตรวจสอบเกี่ยวกับแบรนด์ของคุณได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคุณสามารถทำได้ทั้งการ Survey ในแบบอดีตหรืออาจจะนำเครื่องมือออนไลน์ในการตรวจสอบการพูดถึงแบรนด์ของคุณ ในมุมต่างๆมาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดสุขภาพแบรนด์ของคุณได้เช่นกันครับ