A_Man_Holding_Shopping_Bags

บทความก่อนหน้านี้ผมได้เขียนเกี่ยวกับ “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) ที่สามารถนำมาเป็นกรอบเพื่อช่วยในการนำเสนอ Brand Identity ให้ประทับใจผู้ชมที่มีหลากหลายรูปแบบไปแล้ว ในบทความนี้ผมได้สรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 7 เทคนิคง่ายๆ เพื่อบริหารจัดการความประทับใจ เผื่อเอาไว้เป็นทางลัดในการสร้างแบรนด์ให้ได้ใจลูกค้ากันครับ

1. การส่งเสริมตนเอง (Self-Promotion)

สร้างและวางตำแหน่งแบรนด์ด้วยความมั่นใจ
ไม่ใช่ความหยิ่งยโส

หลักการของการ “ส่งเสริม / โปรโมทตนเอง” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) นั้น มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอจุดเด่น และความสามารถของแบรนด์อย่างตรงไปตรงมา โดยจำเป็นต้องมีหลักฐานสนับสนุน การกระทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ (Credible) และความไว้วางใจ (Trust) จากผู้บริโภค ซึ่งมันก็เปรียบเสมือนบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงทักษะ (Skill) และประสบการณ์จริง (Real Experience) ในการสัมภาษณ์งาน แทนที่จะเพียงแค่พูดคุยโวโอ้อวด

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) “ส่งเสริม / โปรโมทตนเอง” ที่มีประสิทธิภาพจึงไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นการสื่อสารคุณค่าที่แท้จริงของแบรนด์ (Brand Values) ด้วยข้อมูลที่จับต้องได้ การอ้างอิงถึงจำนวนผู้ใช้งานจริง รางวัลที่ได้รับ หรือเรื่องราวความสำเร็จของลูกค้า จะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ มากกว่าการใช้คำพูดสวยหรูแต่ไม่มีหลักฐาน

สิ่งสำคัญ คือ การรักษาสมดุลระหว่าง “ความมั่นใจ” (Confidence) และ “ความหยิ่งยโส” (Arrogance) แบรนด์ที่มั่นใจในคุณค่าของตนเอง จะสื่อสารออกมาอย่างชัดเจนและหนักแน่น ในขณะที่แบรนด์ที่หยิ่งยโส มักจะกล่าวอ้างเกินจริงและขาดความจริงใจ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ในระยะยาวได้ การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จึงเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในโลกของการสร้างแบรนด์ เช่น

  • บริษัทด้าน SaaS ที่แสดงอย่างชัดเจนบนหน้า Landing Page ว่า “ได้รับความไว้วางใจจากทีมงานกว่า 25,000 ทีมทั่วโลก”
  • โปรไฟล์ LinkedIn ของผู้ก่อตั้ง ที่เน้นย้ำความสำเร็จทางธุรกิจที่แท้จริง ไม่ใช่การใช้คำศัพท์ที่กำลังเป็นที่นิยม (Buzzwords)
  • บนบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์กาแฟที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “เมล็ดกาแฟอาราบิก้า 100% ผ่านการคั่วบด โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับรางวัลระดับโลก” แทนที่จะใช้คำว่า “กาแฟที่ดีที่สุดในโลก” โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน
  • แบรนด์เสื้อผ้าที่เล่าเรื่องราวเบื้องหลังการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น “ผลิตจากผ้าฝ้ายออร์แกนิก 100% และกระบวนการย้อมสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการรับรองมาตรฐาน GOTS” แทนที่จะกล่าวอ้างเพียงว่า “เป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีที่สุด”
Example_of_User_Proof

Image Source: https://databox.com/


2. การได้รับการยกย่อง (Acclaim)

ในการจัดการความประทับใจ
การปล่อยให้ผู้อื่นพูดในนามของคุณ มักจะมีน้ำหนักมากกว่าเสมอ

หลักการของ “การได้รับการยกย่อง” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) นั้น เน้นย้ำถึงพลังของการที่บุคคลภายนอก มายืนยันถึงคุณค่า (Values) และความน่าเชื่อถือ (Credible) ของเรา ซึ่งมักจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้อื่น มากกว่าการที่เรากล่าวอ้างด้วยตนเอง เปรียบเสมือนเวลาที่เราเลือกซื้อสินค้า หากมีเพื่อนหรือผู้ใช้งานจริงมารีวิวและแนะนำ เรามักจะเชื่อถือมากกว่าคำโฆษณาของแบรนด์เพียงอย่างเดียว

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) การได้รับการยกย่องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การนำเสนอรีวิวและความคิดเห็นเชิงบวกจากลูกค้าที่พึงพอใจ ถือเป็นการสร้างหลักฐานทางสังคม (Social Proof) ที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยลดความสงสัยและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค การที่แบรนด์ได้รับการกล่าวถึงในสื่อที่มีชื่อเสียง หรือได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ ก็เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในวงกว้างได้เช่นกัน

การใช้ประโยชน์จากเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้ หรือ User-Generated Content (UGC) ผ่าน รูปภาพ วิดีโอ หรือเรื่องราวที่ลูกค้าแชร์เอง ก็เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพในการได้รับการยกย่อง เพราะเนื้อหาเหล่านี้มีความเป็นธรรมชาติ และสะท้อนประสบการณ์จริงของผู้ใช้งาน การที่ Influencer หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ออกมาพูดถึงและแนะนำแบรนด์ ก็เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ตัวอย่างเช่น

  • การมีหน้า “Case Studies” บนเว็บไซต์ที่นำเสนอเรื่องราวความสำเร็จ ของลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเน้นที่ปัญหาที่ลูกค้าเผชิญ วิธีที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าไปช่วยแก้ไข และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น พร้อมคำพูดอ้างอิงจากผู้บริหารของลูกค้า
  • โรงแรมที่แสดง “ความคิดเห็น” (Comment) และ “คะแนนการรีวิว” (Review Scores) จากเว็บไซต์จองโรงแรมชั้นนำ เช่น Booking.com หรือ TripAdvisor อย่างชัดเจนบนหน้าแรกของเว็บไซต์ พร้อมรางวัลหรือประกาศนียบัตร ที่ได้รับจากองค์กรด้านการท่องเที่ยว
  • โรงเรียนสอนภาษาออนไลน์ ที่นำเสนอ “วิดีโอรีวิว” จากนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว โดยให้พวกเขาพูดถึงประสบการณ์การเรียนรู้ ผลลัพธ์ที่ได้รับ และสิ่งที่ประทับใจเกี่ยวกับโรงเรียน
  • แบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยง ที่มีการร่วมมือกับสัตวแพทย์ที่มีชื่อเสียง ในการให้ “สัมภาษณ์” (Interview) หรือเขียน “บทความ” (Articles) เกี่ยวกับโภชนาการสัตว์เลี้ยง โดยมีการอ้างอิงถึงแบรนด์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ
Example_of_Lumenalta_Case_Studies_on_Website

Image Source: https://lumenalta.com/case-studies


3. การยกย่อง (Flattery)

ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า ตัวเองได้รับการมองเห็น
มีคุณค่า และได้รับการชื่นชม

โดยธรรมชาติแล้วผู้คนมักตอบสนองในเชิงบวก เมื่อรู้สึกว่าตนเองได้รับการเข้าใจและให้คุณค่า แบรนด์สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้ โดยการแสดงความใส่ใจต่อลูกค้าอย่างแท้จริง และสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของพวกเขา หลักการของ “การยกย่อง” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) ไม่ได้หมายถึงการประจบประแจงอย่างไร้เหตุผล แต่เป็นการแสดงความใส่ใจและความชื่นชมต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีและความผูกพัน เปรียบเสมือนเวลาที่เราได้รับคำชมเชย หรือการยอมรับในสิ่งที่เราทำ เรามักจะรู้สึกดีและมีความรู้สึกเชิงบวกต่อผู้ที่กล่าวชมนั้น

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) การยกย่องที่มีประสิทธิภาพ คือ การทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์เข้าใจความต้องการ (Needs) ความรู้สึก (Feelings) และคุณค่า (Values) ของพวกเขา การแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ การรับฟังความคิดเห็น และการนำเสนอเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของลูกค้า จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและความภักดี (Loyalty) ตัวอย่างเช่น

  • แบรนด์เสื้อผ้าที่โพสต์ภาพลูกค้า ที่สวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์และแท็กพวกเขา พร้อมข้อความที่ชื่นชมสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของลูกค้าแต่ละคน เช่น “คุณ @[ชื่อผู้ใช้] Mix & Match ชุดของเราได้ลงตัวมากๆเลยค่ะ! แล้วติด #Hashtag #สไตล์ที่เป็นคุณ”
  • ร้านกาแฟมีการจัดกิจกรรม “Customer Spotlight” ทุกสัปดาห์ โดยเลือกเรื่องราวของลูกค้าที่น่าสนใจ มานำเสนอบนโซเชียลมีเดีย พร้อมมอบของขวัญพิเศษเพื่อแสดงความขอบคุณ
  • บริษัทเทคโนโลยีที่สร้าง “Online Forum” ที่ลูกค้าสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะได้โดยตรง และทีมงานของบริษัทจะเข้าไปมีส่วนร่วม ในการตอบคำถามและแสดงความขอบคุณ สำหรับทุกๆความคิดเห็น
  • แบรนด์เครื่องสำอางมีการจัดแคมเปญ “ShareYourShade” ให้ลูกค้าแชร์ภาพลุคการแต่งหน้าของตนเอง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ พร้อมติด #Hashtag และแบรนด์จะนำภาพเหล่านั้นมารีโพสต์ และชื่นชมความงามของลูกค้าแต่ละคน
Example_of_Customer_Spotlight

Image Source: https://www.linkedin.com/


4. ข้อแก้ตัว (Excuses)

เมื่อเกิดความผิดพลาดแบรนด์ต้องยอมรับความผิดพลาด
ของตนเอง และอธิบายด้วยความซื่อสัตย์

หลักการของ “ข้อแก้ตัว” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) ไม่ได้หมายถึงการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ แต่เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนเวลาที่เราทำผิดพลาด การยอมรับผิดและอธิบายเหตุผลอย่างจริงใจ มักจะได้รับการให้อภัยมากกว่าการหาข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) ความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการจัดส่ง ปัญหาคุณภาพสินค้า หรือข้อผิดพลาดในการสื่อสาร สิ่งสำคัญ คือ แบรนด์จะจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร การเพิกเฉยหรือการหาข้อแก้ตัวที่ไม่น่าเชื่อถือ จะยิ่งทำให้ความไว้วางใจของลูกค้าลดลง ตัวอย่างเช่น

  • สายการบินมีแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า ถึงความล่าช้าของเที่ยวบิน พร้อมระบุสาเหตุที่ชัดเจน เช่น สภาพอากาศเลวร้าย หรือปัญหาทางเทคนิค และเสนอทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินหรือขอคืนเงิน
  • เหตุการณ์ในร้านอาหารหากอาหารที่สั่งหมด หรือมีปัญหาในการบริการ ก็ได้กล่าวขอโทษลูกค้าอย่างจริงใจ และเสนอเครื่องดื่มหรือของหวานเพื่อเป็นการชดเชย
  • บริษัทซอฟต์แวร์เมื่อพบข้อผิดพลาดในโปรแกรม (Bug) ได้รีบแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบถึงปัญหา และกำหนดการแก้ไขพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการใช้งานชั่วคราว
  • สินค้าที่ลูกค้าสั่งผ่านร้านค้าออนไลน์เกิดหมดสต็อก ได้รีบแจ้งให้ลูกค้าทราบทันที พร้อมเสนอทางเลือกอื่น หรือแจ้งกำหนดการเติมสต็อกใหม่ และอาจเสนอส่วนลดสำหรับการสั่งซื้อครั้งถัดไปเพื่อเป็นการขอโทษ

5. การขอโทษ (Apologies)

การขอโทษเป็นส่วนหนึ่งของ “การรักษาหน้า” (Facework)
เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตนเอง

หลักการของ “การขอโทษ” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) นั้น ลึกซึ้งกว่าแค่การกล่าวคำว่า “ขอโทษ” แต่เป็นการแสดงความเสียใจอย่างแท้จริง ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแสดงความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น และแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เปรียบเสมือนเวลาที่เราทำผิดต่อคนที่เรารัก การกล่าวคำขอโทษด้วยความจริงใจ และการแสดงให้เห็นว่าเราสำนึกผิด มักจะช่วยเยียวยาความรู้สึกและฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) การขอโทษที่มีประสิทธิภาพ ต้องมาพร้อมกับการยอมรับความผิดพลาด อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีข้อแก้ตัว และแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อลูกค้าหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ การขอโทษที่ไม่จริงใจ หรือดูเหมือนเป็นการแก้ตัว อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์มากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น

  • แบรนด์แฟชั่นแห่งหนึ่ง หลังจากได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า จะออก “แถลงการณ์ขอโทษลูกค้า” สำหรับความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประกาศนโยบาย “การคืนสินค้า/เปลี่ยนสินค้า” ที่ยืดหยุ่นขึ้น และให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น
  • หลังจากเครื่องเกมมีปัญหาทางเทคนิคครั้งใหญ่ ก็จะโพสต์ข้อความ “ขอโทษผู้เล่นทุกคน” พร้อมอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาและแจ้งกำหนดการแก้ไข รวมถึงอาจมีการชดเชยผู้เล่นด้วยไอเทมพิเศษในเกม
  • สถาบันการศึกษา มีข้อผิดพลาดในการจัดการข้อมูลนักเรียน ก็จะ “ส่งอีเมล์ขอโทษ” นักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งอธิบายถึงมาตรการที่ดำเนินการ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
  • พิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยว มีการปิดให้บริการโดยกะทันหันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จะ “โพสต์ข้อความขอโทษ” ผู้ที่วางแผนจะมาเยี่ยมชม พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลื่อนหรือยกเลิกการจอง

6. การให้ความช่วยเหลือ (Favors)

แบรนด์ใดก็ตามที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนในทันที
จะสร้างความผูกพันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หลักการของ “การให้ความช่วยเหลือ” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) นั้น มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกที่ดี และความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น ผ่านการกระทำที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อ และการใส่ใจโดยไม่หวังผลตอบแทนในทันที การกระทำเหล่านี้สามารถสร้างความประทับใจ ในฐานะผู้ให้และผู้ที่มีน้ำใจ เปรียบเสมือนเวลาที่เราได้รับความช่วยเหลือ จากใครบางคนโดยที่เราไม่ได้ร้องขอ เรามักจะรู้สึกขอบคุณและมีความรู้สึกที่ดีต่อบุคคลนั้น

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) การให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ คือ การมอบสิ่งที่มีคุณค่าให้กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย โดยที่พวกเขาอาจไม่ได้คาดหวัง ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกพิเศษ (Exclusive) และความผูกพันทางอารมณ์ (Emotional Connection) การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนในทันที จะค่อยๆสร้างความปรารถนาดี และความภักดีในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น

  • บริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งเสนอ “เครื่องมือหรือปลั๊กอินแบบฟรีๆ” ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นลูกค้าที่เสียเงินของบริษัทก็ตาม
  • แบรนด์อาหารจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป “ทำอาหารฟรี” สำหรับลูกค้า หรือ “เผยแพร่สูตร” และ “เคล็ดลับ” การทำอาหารที่มีประโยชน์ บนบล็อกและโซเชียลมีเดีย
  • ร้านหนังสือจัดกิจกรรม “อ่านหนังสือร่วมกันฟรี” หรือ “ให้คำแนะนำ” และรายการหนังสือที่น่าสนใจ แก่ลูกค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • บริษัทที่ปรึกษาจัด “สัมมนาออนไลน์ฟรี” ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของลูกค้า หรือ “ให้คำแนะนำเบื้องต้น” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • แบรนด์เครื่องสำอางมอบ “ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟรี” ให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ หรือจัด “กิจกรรมสอนแต่งหน้าฟรี”

7. การคล้อยตาม (Conformity)

แบรนด์ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า และสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญ
มีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับมากขึ้น

หลักการของ “การคล้อยตาม” ใน “ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ” (Impression Management Theory) หมายถึงการปรับตัวให้เข้ากับบรรทัดฐาน (Norms) ความเชื่อ (Beliefs) และคุณค่า (Values) ของกลุ่มที่เราต้องการเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและการยอมรับ เปรียบเสมือนเวลาที่เราพยายามทำความเข้าใจ และเคารพวัฒนธรรมของกลุ่มเพื่อนใหม่ เพื่อให้พวกเขายอมรับเราเข้ากลุ่ม

ในบริบทของการสร้างแบรนด์ (Branding) การคล้อยตามที่มีประสิทธิภาพ คือ การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า กลุ่มเป้าหมายของเราให้ความสำคัญกับอะไร มีความเชื่อแบบไหน และมีประเด็นทางสังคมใดบ้างที่พวกเขาสนใจ จากนั้นแบรนด์จะต้องแสดงให้เห็นว่าตนเองมีคุณค่า และจุดยืนที่สอดคล้องกับสิ่งเหล่านั้น การทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงและความไว้วางใจ ตัวอย่างเช่น

  • แบรนด์กาแฟให้ความสำคัญกับการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และความยั่งยืน (Sustainability) โดยนำเสนอเรื่องราวของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้
  • แบรนด์เครื่องสำอางที่มักจะรณรงค์เรื่องความหลากหลาย และความงามในทุกรูปแบบ โดยใช้ภาพนางแบบที่มีรูปร่าง สีผิว และเชื้อชาติที่แตกต่างกันในการโฆษณา และสนับสนุนการไม่ทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์
  • บริษัทด้านเทคโนโลยีสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา และการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าของกลุ่มเป้าหมาย ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม
  • ร้านอาหารที่เลือกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าของผู้บริโภค ที่ต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชน และความยั่งยืนของอาหาร
  • แบรนด์รถยนต์กับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งตอบสนองต่อความกังวลของผู้บริโภค เกี่ยวกับปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน

การบริหารจัดการความประทับใจ (Impression Management) เตือนเราว่า วิธีที่ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับคุณนั้นไม่เคยเป็นกลาง แต่จะเป็นไปในทิศทางที่ส่งเสริมคุณหรือเป็นอุปสรรคต่อคุณ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า ในทุกๆข้อความ ทุกๆแคมเปญ และทุกๆการมีปฏิสัมพันธ์ คือ โอกาสในการสร้างความประทับใจที่ยั่งยืนและมีความหมาย ด้วยการนำ 7 เทคนิคเหล่านี้ ไปใช้กับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการสื่อสารของคุณ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เกิดความประทับใจจนกลายเป็นสินทรัพย์ ที่มีค่าที่สุดของแบรนด์คุณนั่นเอง


Share to friends


Related Posts

วิธีนำเสนอ Brand Identity แบบมืออาชีพด้วย Impression Management Theory

ทฤษฎีการจัดการความประทับใจ (Impression Management Theory) มีรากฐานมาจากงานของนักสังคมวิทยาชาวแคนาดา-อเมริกัน ที่ชื่อ เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) จากหนังสือ “The Presentation of Self in Everyday Life” ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1959 ในหนังสือเล่มนี้ กอฟฟ์แมนนำเสนอแนวคิดเชิงทฤษฎี ที่เปรียบเทียบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับการแสดงละคร โดยอธิบายว่า บุคคลต่างๆพยายามที่จะสร้างความประทับใจที่ต้องการ ให้กับผู้อื่นในระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แนวคิดเรื่อง “ฉากหน้า” (Frontstage) และ “ฉากหลัง” (Backstage)


พลังของ Brand Promise กับการสร้างความประทับใจให้ลูกค้า

ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน แบรนด์จำเป็นต้องทำมากกว่าการขายสินค้าและบริการ พวกเขาต้องสร้างความไว้วางใจ (Trust) สร้างความภักดี (Loyalty) และมอบประสบการณ์ (Experience) ที่สอดคล้องกันกับคำมั่นสัญญาของแบรนด์ (Brand Promise) ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์ให้ไว้กับลูกค้า ที่กำหนดความคาดหวังและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขา คำมั่นสัญญานี้เป็นมากกว่าคำขวัญหรือสโลแกน แต่เป็นหัวใจสำคัญของสิ่งที่ธุรกิจเป็นอยู่ และประสบการณ์ที่พวกเขาส่งมอบให้กับลูกค้า


วิธีสร้าง Brand Experience ให้ประทับใจ

การสร้างประสบการณ์ต่อแบรนด์ หรือ Brand Experience เป็นมุมมองของผู้บริโภคที่มีประสบการณ์ต่อการสัมผัสแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเห็นหรือการใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์ การเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่แบรนด์จัดขึ้น การพูดคุยกับพนักงานขาย การเห็นสื่อโฆษณา แล้วรู้สึกอย่างไรกับแบรนด์



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์