
เมื่อคนส่วนใหญ่นึกถึงการสร้างแบรนด์ (Branding) พวกเขาก็มักจะนึกถึงการมีโลโก้ การทำโฆษณา และแคมเปญการตลาดในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้คนจดจำได้และสร้างยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของแบรนด์เริ่มต้นจากตัวบริษัทเอง หรือที่เราเรียกว่าการสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding) ซึ่งเป็นกระบวนการในการปรับจูนพนักงานของคุณให้มีความสอดคล้องกับค่านิยม (Core Values) วิสัยทัศน์ (Vision) และภารกิจ (Mission) ของแบรนด์ ซึ่งเป็นรากฐานที่สนับสนุนทุกสิ่งที่บริษัททำสู่ภายนอก
หากธุรกิจใดก็ตามเพิกเฉยต่อการสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding) จะทำให้องค์กรและธุรกิจอ่อนแอลง ซึ่งแน่นอนครับว่าจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน จนส่งผลสู่การทำธุรกิจกับกลุ่มคนภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจะพาผู้อ่านมาเจาะลึกครับว่าทำไมการสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding) จึงมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจ และจะเกิดความเสี่ยงอะไรบ้างหากมองข้ามไป รวมถึงวิธีที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จ ได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างแบรนด์ภายในที่แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ และหากใครยังไม่เข้าใจคำว่า Internal Branding ผมแนะนำให้ลองเข้าไปอ่านได้ที่บทความนี้ก่อนครับ >>> ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการทำ Internal Branding

4 เหตุผลสำคัญที่ Internal Branding ถึงมีความสำคัญขั้นสุด
การสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding) คือ การทำให้พนักงานเข้าใจและเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และคุณค่าขององค์กร (Core Values) ซึ่งจะช่วยให้พนักงานไม่ได้เพียงแค่ “ทำงาน” แต่ยัง “รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง” ของแบรนด์อย่างแท้จริง และเมื่อองค์กรมีการสร้างแบรนด์ภายในที่ดี (Internal Branding) พนักงานจะกลายเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์ (Brand Advocates) ช่วยถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์ไปยังลูกค้าอย่างจริงใจและต่อเนื่อง แต่หากละเลยการสร้างแบรนด์ภายใน พนักงานจะขาดแรงจูงใจส่งผลให้ประสบการณ์ของลูกค้าไม่เป็นไปตามที่แบรนด์ต้องการ และทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูไม่จริงใจ และทั้ง 4 ข้อต่อไปนี้ คือ เหตุผลว่าทำไมการสร้างแบรนด์ภายในองค์กร (Internal Branding) จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จในระยะยาว
1. พนักงานคือทูตหรือตัวแทนของแบรนด์ (Employees as Brand Ambassadors)
พนักงานของคุณคือผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มแรกๆ หากพวกเขาไม่เข้าใจหรือไม่สามารถสะท้อนคุณค่าของแบรนด์ (Core Values) ได้ จะทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันในภาพลักษณ์ขององค์กร ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของลูกค้าลดลง ตัวอย่างเช่น หากแบรนด์ของคุณเน้นเรื่องการบริการที่อบอุ่นและเป็นกันเอง แต่พนักงานให้บริการแบบแข็งกระด้าง ไม่มีรอยยิ้ม ลูกค้าจะรับรู้ถึงความไม่ตรงกันระหว่างคำโฆษณากับประสบการณ์จริง
2. สร้างความสม่ำเสมอในทุกจุดสัมผัส (Consistency Across Touchpoints)
เมื่อพนักงานเข้าใจและเชื่อมั่นในแบรนด์ของคุณ พวกเขาจะช่วยรักษาประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience) ให้มีความสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การเข้ามาใช้บริการที่ร้าน หรือการติดต่อผ่านฝ่ายบริการลูกค้า ตัวอย่างเช่น แบรนด์ระดับโลกอย่าง Apple ให้ความสำคัญกับการอบรมพนักงาน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ของแบรนด์ได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าลูกค้าจะเดินเข้าร้าน Apple Store ที่ประเทศใด พวกเขาจะได้รับการบริการที่เป็นมิตร มีความรู้ และช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอยู่เสมอ
3. วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง (Stronger Company Culture)
การสร้างแบรนด์ภายในที่ดีช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น และสิ่งนี้ก็นำไปสู่ระดับการมีส่วนร่วมที่สูง ส่งผลให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงาน บริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง เช่น Google หรือ Zappos ก็ใช้แนวทางการสร้างแบรนด์ภายในที่ชัดเจน โดยให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์และส่งเสริมคุณค่าขององค์กร ผลลัพธ์ที่ได้คือพนักงานที่มีความสุขและสามารถส่งต่อพลังบวกให้กับลูกค้า
4. การทำงานสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร (Better Alignment with Goals)
พนักงานที่เข้าใจและมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ของแบรนด์ จะมีแนวโน้มที่จะทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในระยะยาว พวกเขาจะไม่เพียงแค่ “ทำตามคำสั่ง” แต่จะลงมือทำด้วยความเข้าใจว่าแต่ละบทบาทของพวกเขาส่งผลต่อความสำเร็จของบริษัทอย่างไร ตัวอย่างเช่น Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้พนักงานมีแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกับแบรนด์ ส่งผลให้พนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่น และสามารถถ่ายทอดจุดยืนของแบรนด์ออกไปยังลูกค้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ผลกระทบของการละเลยการทำ Internal Branding
หลายองค์กรและหลายธุรกิจให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ภายนอก (External Branding) เช่น การตลาด การโฆษณา และการสื่อสารไปยังลูกค้า แต่กลับมองข้ามการสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในระยะยาว หากพนักงานไม่ได้รับการสื่อสารที่ชัดเจน พวกเขาอาจไม่สามารถถ่ายทอดแบรนด์ออกไปยังลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่ความสับสนของลูกค้า การบริการที่ไม่สอดคล้องกัน และแม้กระทั่งการสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ (Brand Trust) และต่อไปนี้ คือ ผลกระทบสำคัญที่อาจเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจละเลยการสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding)
1. ความไม่สอดคล้องกันของการสื่อสาร (Misaligned Messaging)
เมื่อพนักงานไม่เข้าใจแบรนด์อย่างแท้จริง พวกเขาอาจสื่อสารข้อความที่ขัดแย้งกับสิ่งที่บริษัทต้องการนำเสนอ ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน และรู้สึกว่าแบรนด์ไม่มีความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีค่านิยมเรื่อง “ความยั่งยืน” แต่พนักงานฝ่ายขายกลับไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ใช้ถุงพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ไม่ได้ยึดมั่นในสิ่งที่พูด
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- การตลาดที่ลงทุนไปอาจสูญเปล่า เพราะพนักงานไม่สามารถส่งต่อสารที่สอดคล้องกัน
- แบรนด์ดูไม่น่าเชื่อถือเพราะคำพูดและการกระทำไม่ตรงกัน
- ลูกค้าเกิดความสับสนและไม่มั่นใจในอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity)
2. ขวัญกำลังใจของพนักงานตกต่ำ (Low Employee Morale)
เมื่อพนักงานรู้สึกว่าแบรนด์ไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา หรือไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ พวกเขาอาจขาดแรงจูงใจและความทุ่มเทในการทำงาน ลองนึกถึงองค์กรที่มีค่านิยมเรื่อง “การทำงานเป็นทีม” แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือขาดการสื่อสารที่ดีจากผู้บริหาร พนักงานจะรู้สึกว่าคำพูดขององค์กรเป็นเพียงแค่ “สโลแกน” เหมือนการโปรโมทสินค้าสวยๆที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาขหาดความผูกพันกับองค์กร
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- พนักงานทำงานอย่างขาดแรงจูงใจส่งผลต่อคุณภาพของงาน
- อัตราการลาออกสูงขึ้นเพราะพนักงานไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
- วัฒนธรรมองค์กรอ่อนแอและยากต่อการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง
3. ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ไม่สม่ำเสมอ (Inconsistent Customer Experience)
หากพนักงานจากแต่ละแผนกไม่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับแบรนด์และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อาจเกิดสถานการณ์ที่ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาติดต่อกับใคร ตัวอย่างเช่น ลูกค้าคนหนึ่งโทรไปสอบถามเรื่องผลิตภัณฑ์กับฝ่ายบริการลูกค้า และได้รับข้อมูลว่ามีโปรโมชั่นลดราคา แต่เมื่อเดินเข้าไปซื้อที่ร้านกลับได้รับข้อมูลที่ขัดแย้งกันว่าไม่มีส่วนลดใดๆ สิ่งนี้จะสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้า และอาจทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่กลับมาใช้บริการอีก
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- ลูกค้าไม่สามารถคาดเดาประสบการณ์ที่ได้รับจากแบรนด์ได้
- ความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ลดลงเพราะการบริการไม่มีมาตรฐาน
- แบรนด์อาจสูญเสียลูกค้าประจำ และได้รับรีวิวเชิงลบจากประสบการณ์ที่ไม่ดี
4. ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีคุณภาพได้ยาก (Difficulty Attracting and Retaining Talent)
องค์กรที่ไม่สามารถสื่อสารคุณค่าของแบรนด์ไปยังพนักงานภายในได้ มักจะประสบปัญหาในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ เพราะพนักงานที่มีคุณภาพมักมองหาสถานที่ทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจน และสอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา ตัวอย่างเช่น บริษัทที่อ้างว่าให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาศักยภาพพนักงาน” แต่กลับไม่มีโครงการฝึกอบรม หรือไม่มีโอกาสให้พนักงานเติบโตในสายงาน อาจทำให้บุคลากรที่มีความสามารถเลือกไปทำงานกับองค์กร ที่มีความชัดเจนด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาอาชีพมากกว่า
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- การสรรหาพนักงานใหม่ทำได้ยากขึ้น เพราะองค์กรไม่มีจุดขายที่ชัดเจน
- พนักงานที่มีความสามารถสูงอาจลาออกไปทำงานที่อื่น
- ค่าใช้จ่ายในการจ้างและฝึกอบรมพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ตัวอย่างความผิดพลาดจากการละเลยการทำ Internal Branding อย่างต่อเนื่อง
วิกฤตทางวัฒนธรรมของ Uber
ในช่วงกลางทศวรรษ 2010 Uber เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวหลายครั้ง รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องวัฒนธรรมในที่ทำงาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ (Toxic Workplace Culture) แม้จะมีการสร้างแบรนด์ภายนอกที่แข็งแกร่งในฐานะ Innovative Disruptor ก็ตาม แต่บริษัทก็ล้มเหลวในการปรับแนวทางปฏิบัติภายใน ให้สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่ออกสู่ภายนอก ความไม่สอดคล้องกันนี้นำไปสู่ความเสียหายต่อชื่อเสียง ลูกค้าไม่ไว้วางใจ สู่การเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำในตลาด

Source: https://www.theculturefix.works/blog/super-pumped-the-history-of-uber-s-company-culture
Wells Fargo กับเรื่องอื้อฉาวในวงการธนาคาร
ในปี 2016 พนักงานของ Wells Fargo ซึ่งเป็นธุรกิจธนาคารการเงินได้เปิดบัญชีปลอมหลายล้านบัญชี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขายเชิงรุก ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งโดยตรงกับคำมั่นสัญญาของธนาคารที่ให้ลูกค้ามาเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดความสอดคล้องภายในกับค่านิยมที่ระบุไว้ของแบรนด์ ประกอบกับความกดดันที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ ของผลประโยชน์ในระยะสั้น มากกว่าพฤติกรรมที่มีจริยธรรม

Source: https://www.fox5atlanta.com/news/wells-fargo-to-pay-3b-to-resolve-probes-into-fake-accounts

วิธีสร้าง Internal Branding ให้แข็งแกร่ง
อย่างที่ผมอธิบายไว้ข้างต้นครับว่าการสร้างแบรนด์ภายใน (Internal Branding) ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำให้พนักงานรู้จักชื่อหรือโลโก้ของบริษัท แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้พนักงานเข้าใจและซึมซับคุณค่า (Core Values) วิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) จนสามารถนำไปใช้จริงในทุกแง่มุมของการทำงาน หากองค์กรสามารถสร้าง Internal Branding ได้ดี พนักงานจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์และมีความเข้าใจในตัวธุรกิจอย่างแท้จริง จนเกิดความภาคภูมิใจและพร้อมส่งต่อประสบการณ์ที่ดีไปยังลูกค้า แต่ในทางกลับกันหากละเลยการทำ Internal Branding ก็อาจนำไปสู่การสื่อสารที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ขาดแรงจูงใจและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ เรามาดูแนวทางในการสร้างแบรนด์ภายในให้แข็งแกร่งกันครับ
1. กำหนดค่านิยมหลักของแบรนด์ให้ชัดเจน (Define Your Brand’s Core Values)
ค่านิยมหลักของแบรนด์ (Core Values) เป็นเสมือน “เข็มทิศ” ที่กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติงานของพนักงาน หากค่านิยมเหล่านี้ไม่มีความหมายที่ชัดเจน หรือไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง อาจทำให้พนักงานไม่เข้าใจว่าแบรนด์ของตนยืนหยัดไปเพื่ออะไร
แนวทางปฏิบัติ
- กำหนดค่านิยมที่มีความหมายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
- จัดประชุมเชิงปฏิบัติการหรือทำแบบสำรวจ เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดค่านิยมขององค์กร
- สร้างแผนงานที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละค่านิยมจะถูกนำไปใช้ในชีวิตการทำงานอย่างไร
ตัวอย่างเช่น Patagonia ซึ่งให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” ที่ไม่ใช่แค่คำพูดสวยๆ แต่สะท้อนในทุกด้านของการทำธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แคมเปญรณรงค์ให้คนซ่อมเสื้อผ้าแทนการซื้อใหม่ ไปจนถึงการสนับสนุนให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม

Source: https://www.patagonia.com/environmental-responsibility-materials/
2. สื่อสารแบรนด์ให้ชัดเจนและต่อเนื่อง (Clearly Communicate)
การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของ Internal Branding พนักงานต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ในวันปฐมนิเทศ (Orientation) ในการต้อนรับพนักงานใหม่เพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดการทำงาน
แนวทางปฏิบัติ
- จัดการประชุมประจำเดือนหรือไตรมาสเพื่ออัปเดตเกี่ยวกับแบรนด์
- ใช้ช่องทางภายในองค์กร เช่น อินทราเน็ต อีเมล์ หรือวิดีโอ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับแบรนด์
- ใช้การถ่ายทอดแบบ Storytelling เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์กับพนักงาน ผ่านเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจในแบบต่างๆ
ตัวอย่างเช่น Google ที่มักจะเล่าเรื่องราวของพนักงานที่ใช้เทคโนโลยีของ Google เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกบนโลก ซึ่งช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง

3. ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี (Lead by Example)
วัฒนธรรมองค์กรจะไม่สามารถแข็งแกร่งได้ หากผู้นำไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี การกระทำของผู้บริหารต้องสะท้อนถึงค่านิยมของแบรนด์ (Core Values) และสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทพยายามจะถ่ายทอดให้กับพนักงาน
แนวทางปฏิบัติ
- ผู้นำควรใช้ค่านิยมของแบรนด์เป็นแนวทางในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
- สื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานเพื่อสร้างความไว้วางใจ
- ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่แค่ผลกำไร
ตัวอย่างเช่น Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากการแข่งขันภายใน มาเป็นการทำงานร่วมกันโดยเน้นเรื่อง “การเติบโตและการเรียนรู้” สิ่งนี้ช่วยให้พนักงานทุกระดับรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

Source: https://www.channelnewsasia.com/business/microsoft-ceo-satya-nadella-tech-jobs-industry-3079681
4. ยกย่องและให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานได้สอดคล้องกับแบรนด์ (Recognize and Reward Alignment)
พนักงานที่สะท้อนค่านิยมของแบรนด์อย่างชัดเจน ควรได้รับการยอมรับและให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นคำชม การให้โบนัส หรือการโปรโมท เพื่อกระตุ้นให้พนักงานคนอื่นๆปฏิบัติตาม
แนวทางปฏิบัติ
- จัดโปรแกรม “พนักงานตัวอย่าง” ที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของแบรนด์
- ใช้ระบบรางวัล เช่น โบนัส หรือสิทธิพิเศษสำหรับพนักงานที่ทำงานตามแนวทางของแบรนด์
- เผยแพร่เรื่องราวของพนักงานที่เป็นแบบอย่าง ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในองค์กร
ตัวอย่างเช่น Zappos ที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร พวกเขามีโปรแกรมให้รางวัลแก่พนักงานที่แสดงถึง “การบริการที่เหนือความคาดหมาย” ซึ่งช่วยสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

Source: https://chatra.com/books/customer-service-excellence-examples/02-zappos-and-the-path-to-customer-happiness/
5. จัดการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง (Ongoing Training and Development)
Internal Branding ไม่ใช่โครงการที่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วจบไป แต่ต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลาผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ
แนวทางปฏิบัติ
- จัดอบรมเกี่ยวกับแบรนด์และวัฒนธรรมองค์กรเป็นระยะ
- ใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น Workshop, Role-Playing หรือ Simulation เพื่อให้พนักงานเข้าใจค่านิยมของแบรนด์
- สร้างโปรแกรมการเรียนรู้ออนไลน์หรือคลังความรู้ภายในองค์กร
ตัวอย่างเช่น Disney ที่มี Disney University เพื่อฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร และการให้บริการตามมาตรฐานของแบรนด์

Source: https://jobs.disneycareers.com/job/orlando/disney-college-program/391/76310468736
จำนวนการโฆษณาหรือการตลาดสู่ภายนอก ไม่สามารถชดเชยการละเลยต่อการสร้างแบรนด์ภายในได้ แบรนด์ที่แข็งแกร่งนั้นถูกสร้างขึ้นจากภายในโดยพนักงานที่เข้าใจ เชื่อมั่น และนำเอาคุณค่าของแบรนด์มาใช้ เมื่อละเลยการสร้างแบรนด์ภายใน ก็นำไปสู่การส่งข้อความและการสื่อสารที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของลูกค้า และอาจลามไปถึงชื่อเสียงที่มัวหมองได้ แบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบภายใน จะสร้างรากฐานอันทรงพลังสำหรับความสำเร็จ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดนั่นเอง