
ในโลกของแฟชั่นแห่งความหรูหรา (Fashion Luxury Brands) การสร้างแบรนด์เป็นมากกว่าแค่คำว่า “สุนทรียศาสตร์” (Aesthetics) แต่มันคือ การแสดงถึงความเป็นมรดก (Heritage) ความทรงพลัง (Power) และจุดมุ่งหมาย (Purpose) ชื่อที่สื่อถึงตำนาน (Naming) โลโก้ (Logo) ที่แสดงถึงภาพลักษณ์ สีสัน (Colors) ที่กระตุ้นอารมณ์ ทุกแบบอักษร (Typography) รูปร่าง (Shapes) และการออกแบบ (Design) ล้วนถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจอย่างลึกซึ้ง แบรนด์แฟชั่นที่โดดเด่นที่สุดในโลก จะไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ แต่พวกเขากำลังขายความหมาย (Meaning) และความเชื่อมโยงบางอย่าง (Association) นั่นเอง และในบทความนี้ผมจะพาผู้อ่านมาค้นพบกับ ความหมายและสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อ และโลโก้ของแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกกันครับ


คำว่า Chanel มาจากชื่อเต็มของ Gabrielle “Coco” Chanel ซึ่งเป็นชื่อเล่นในช่วงเวลาสั้นๆที่เธอแสดงในคาเฟ่ โดยเธอร้องเพลงที่ชื่อ “Qui qu’a vu Coco?” ชื่อ “Coco” จึงกลายมาเป็นตัวแทนของบุคลิกที่ “กระตือรือร้น” (Spirited) และ “เป็นอิสระ” (Independent) ของเธอ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นชื่อแบรนด์ของเธอนั่นเอง โลโก้ Chanel นันมีเอกลักษณ์ตรงที่เป็นตัว C สองตัวไขว้กันที่มีความเรียบง่าย Coco Chanel จึงไม่เพียงแค่เป็นชื่อย่อของเธอเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ความสง่างามเหนือกาลเวลา” (Timeless Elegance) และ “ความสมดุล” (Balance)
“โทนสีขาวดำ” ของแบรนด์สะท้อนถึงปรัชญาแห่ง “ความเรียบง่าย” (Minimalism) และ “ความซับซ้อน” (Sophistication) ของ Coco Chanel โดยครั้งหนึ่งเธอเคยบอกเอาไว้ว่า “Black has it all. White too. Their beauty is absolute.” หรือ “สีดำมีทุกสิ่ง สีขาวก็เช่นกัน ความงามของมันนั้นสมบูรณ์แบบ”
- “Black has it all.” (สีดำมีทุกสิ่ง)
สีดำในมุมมองของ Chanel ไม่ใช่แค่สีที่มืดมิดหรือขาดความสดใส แต่เป็นสีที่ “ครอบคลุม” ทุกอย่าง มันมี “ความสง่างาม” (Elegance) “ความลึกลับ” (Mystery) “ความแข็งแกร่ง” (Strength) และสามารถเข้าได้กับทุกสิ่ง มันเป็นสีที่ “สมบูรณ์ในตัวมันเอง” และไม่จำเป็นต้องมีสีอื่นมาเติมเต็ม - “White too.” (สีขาวก็เช่นกัน)
สีขาวก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงสีที่ว่างเปล่าหรือจืดชืด แต่เป็นสีที่ “บริสุทธิ์” (Pure) “สงบ” (Serene) และ “เหนือกาลเวลา” (Timeless) มันมีความเรียบง่ายที่ทรงพลัง และสามารถเป็นพื้นฐานที่สมบูรณ์แบบ สำหรับสีอื่นๆหรือโดดเด่นด้วยตัวมันเอง - “Their beauty is absolute.” (ความงามของมันนั้นสมบูรณ์แบบ)
Chanel เชื่อว่าความงามของสีดำและสีขาวนั้นมีความ “เด็ดขาด” (Absolute) และ “ไม่มีเงื่อนไข” (Unconditional) มันเป็นความงามที่ไม่ขึ้นอยู่กับกระแสแฟชั่นหรือรสนิยมส่วนบุคคล แต่เป็นความงามที่ “เป็นสากล” (Universal) และ “คงอยู่ตลอดไป” (Everlasting)
โดยรวมแล้ว คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความเชื่อของ Coco Chanel ในเรื่องของ “ความเรียบง่ายที่สง่างาม” (Elegant Simplicity) และ “ความงามเหนือกาลเวลา” (Timeless Beauty) เธอเชื่อว่าสีดำและสีขาวนั้น เป็นสีพื้นฐานที่มีพลังในตัวเองและสามารถสื่อถึง “ความซับซ้อน” (Complexity) และ “ความละเอียดอ่อน” (Refined) ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความฉูดฉาด หรือการประดับประดาที่มากเกินไป นี่จึงเป็นเหตุผลที่โทนสีขาวดำกลายเป็น “อัตลักษณ์” (Identity) ที่สำคัญของแบรนด์ Chanel มาจนถึงทุกวันนี้
แบบอักษรที่ใช้ในชื่อแบรนด์ Chanel เป็นแบบอักษร Sans-Serif (อักษรแบบไม่มีเชิง) ที่สะอาดตา ซึ่งสะท้อนถึงสุนทรียภาพที่ทันสมัย และความเรียบง่ายของการออกแบบของเธอ ภาพของแบรนด์แสดงออกถึง “ความมั่นใจ” (Confidence) “ความประณีต” (Refinement) และ “ความเก๋ไก๋เหนือกาลเวลา” (Timeless) เช่นเดียวกับตัวของ Coco เอง

Louis Vuitton นั้นตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นช่างทำหีบผู้ชำนาญ ที่ปฏิวัติอุปกรณ์การเดินทางในศตวรรษที่ 19 แบรนด์นี้เป็นสัญลักษณ์ของ “งานฝีมือ” (Craftsmanship) และ “สถานะทางสังคม” (Social Status) สัญลักษณ์ “LV” ที่เป็นลายแบบ Monogram ไม่ได้เป็นเพียงแค่การวางตัวอักษรคู่กันเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง “สัญลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว” (Unified Symbol) และ “จดจำได้ง่าย” (Highly Memorable) ที่สร้างขึ้นโดย Georges Vuitton (ลูกชายของ Louis) ซึ่งถูกออกแบบขึ้นในปี 1896 และถือเป็นหนึ่งในโลโก้แรกๆ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการปลอมแปลง และมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความสง่างาม” (Prestige) และ “นวัตกรรม” (Innovation) รวมทั้งลวดลายอื่นๆที่มาพร้อมกัน เช่น ลายดอกไม้สี่แฉก ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายญี่ปุ่น และกลิ่นอายของวัฒนธรรมทางตะวันออกในยุควิคตอเรียน ที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลระดับโลกของแบรนด์
“โทนสีน้ำตาลทอง” แบบคลาสสิก (Brown and Gold) สื่อถึง “ความทนทาน” (Durability) และ “ความหรูหรา” (Luxury) ชวนให้นึกถึงความเป็น “มรดกของแบรนด์” (Brand Heritage) ในการผลิตหีบสำหรับเดินทาง การใช้แบบอักษร Serif (อักษรแบบมีเชิง) ที่ใช้ในโลโก้ก็สื่อถึง “ประเพณี” (Tradition) และ “อำนาจ” (Authority) ที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของ Louis Vuitton ในฐานะสัญลักษณ์ของ “ความหรูหรา” (Luxury) “เหนือกาลเวลา” (Timeless) และ “ความเป็นเลิศด้านงานฝีมือ” (Artisanal Excellence)
แม้จะ LV เป็นโลโก้ที่มีอายุยาวนาน แต่ “LV Monogram” ก็ยังคงถูกนำมาตีความใหม่ ในหลากหลายรูปแบบและสีสัน ผ่านความร่วมมือกับศิลปินและดีไซเนอร์ต่างๆ ทำให้โลโก้ยังคง “สดใหม่” (Fresh) และ “เข้ากับยุคสมัย” (Modern) อยู่ตลอดเวลา

ชื่อแบรนด์ Gucci ต้องย้อนกลับไปถึงผู้ก่อตั้งอย่าง Guccio Gucci ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระเป๋าเดินทางอันประณีต ที่เขาเห็นขณะทำงานที่โรงแรม Savoy ในกรุงลอนดอน และเมื่อเขากลับมายังเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เพื่อก่อตั้งแบรนด์ของเขาเอง เขาก็ได้ผสมผสาน “ความสง่างามแบบชนชั้นสูง” (Aristocratic Elegance) เข้าไป โลโก้ GG สองตัวไขว้กันเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงชื่อย่อของเขา ที่ดูคล้ายกับห่วงคล้องปากม้า และเพื่อเป็นการให้เกียรติความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ของแบรนด์กับโลกแห่งการขี่ม้า แถบสีเขียว-แดง-เขียวของ Gucci เดิมนั้นก็มาจากสายรัดอานม้า และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ในที่สุด สื่อถึง “ความแข็งแกร่ง” (Strength) “ประเพณี” (Tradition) และ “ความหรูหรา” (Luxury)
แบบอักษรที่ใช้ในโลโก้เป็นแบบ Serif (อักษรแบบมีเชิง) ดูคลาสสิกที่มีกลิ่นอายของโรมัน ที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับรากฐานของ Gucci ในความเป็นงานฝีมือของอิตาลี ทุกองค์ประกอบตั้งแต่แถบสีไปจนถึงสัญลักษณ์ ได้เล่าเรื่องราวของมรดกที่แต่งแต้มด้วยแฟชั่นชั้นสูง
Gucci ยังใช้ “สีดำและสีทอง” (Black and Gold) กับโลโก้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) เพื่อเสริมสร้างความรู้สึก “หรูหรา” (Luxury) “สง่างาม” (Prestige) และ “ทันสมัย” (Modern) มาใช้ร่วมกันอย่างหรูหราในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องหนัง เครื่องประดับ และเสื้อผ้า รวมถึงการใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

Hermès เป็นแบรนด์ที่ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง Thierry Hermès ผู้ซึ่งเริ่มต้นแบรนด์ในฐานะการเป็น โรงงานทำเครื่องเทียมม้าและบังเหียนในปารีส ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1837 จุดเริ่มต้นของแบรนด์ในวงการขี่ม้า ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนบนตัวโลโก้ “รถม้าที่มีม้าลาก” (Horse-drawn Carriage) ภาพนี้สื่อถึง “ต้นกำเนิดที่แท้จริง” (Literal Origins) ความเชื่อมโยงที่ยั่งยืนกับ “ความหรูหรา” (Luxury) และ “งานฝีมือแบบดั้งเดิม” (Traditional Craftmanship) และที่น่าสนใจ ก็คือ “สีส้ม” (Orange) อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ถูกนำมาใช้ เนื่องจากความจำเป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้น กระดาษแข็งสีเบจซึ่งเป็นสีบรรจุภัณฑ์เดิมของ Hermès เกิดขาดแคลน ทำให้แบรนด์ต้องหันมาใช้กระดาษแข็งสีส้มที่ยังพอหาได้ แต่แทนที่จะเป็นเพียงทางเลือกแค่ชั่วคราวสีส้มกลับกลายเป็นที่ “จดจำได้ง่าย” (Highly Memorable) และ “สร้างความโดดเด่น” (Unique Identity) ให้กับแบรนด์อย่างไม่คาดคิด Hermès จึงตัดสินใจใช้สีส้มนี้อย่างต่อเนื่อง
“สีส้ม” (Orange) สดใสสื่อถึง “พลัง” (Power) “ความมีชีวิตชีวา” (Liveliness) และ “ความโดดเด่น” (Distinctiveness) ซึ่งเข้ากันได้ดีกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) ที่นำเสนอความหรูหราอย่างมีสไตล์และไม่เหมือนใคร สีส้มยังเป็นสีที่ “ดึงดูดสายตา” (Visually Appealing) และสร้างความรู้สึก “อบอุ่นและเป็นมิตร” (Warmth & Friendlines) ซึ่งอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำ และชื่นชอบบรรจุภัณฑ์สีส้มของ Hermès แบรนด์ใช้แบบอักษร Serif (อักษรแบบมีเชิง) ที่โดดเด่นซึ่งสื่อถึง “ความทนทาน” (Durability) “อำนาจ” (Authority) และ “ความสง่างามแบบช่างฝีมือ” (Artisanal Elegance)
โลโก้รถม้าของ Hermès ถือเป็นการเคารพต่อ “รากฐาน” (Origins) และสื่อถึงความเชี่ยวชาญใน “งานฝีมือ” (Craftsmanship) รวมถึง “ความสง่างามแบบดั้งเดิม” (Traditional Elegance) ในขณะที่สีส้มอันเป็นเอกลักษณ์นั้นมีจุดเริ่มต้นจาก “ความจำเป็น” แต่กลับกลายเป็น “สัญลักษณ์ที่โดดเด่น” (Distinctive Symbol) และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง “แบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่จดจำ” (Strong and Recognizable Brand) จนถึงทุกวันนี้

Dior มาจากชื่อของ Christian Dior ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้ขึ้นมา และได้กลายเป็นคำพ้องความหมายของ “ความหรูหราแบบฝรั่งเศส” (French Luxury) และ “ความสง่างามแบบโรแมนติก” (Romantic Elegance) ด้วยเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่สร้างขึ้นจากการกำหนดนิยามใหม่ ของความเป็นผู้หญิงหลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่าน “New Look”
Dior ใช้ “สีขาวดำ” (Black & White) เป็นหลักในการสร้างแบรนด์ รวมถึงการออกแบบโลโก้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ความคลาสสิก” (Classic) “ความสง่างาม” (Elegance) “เหนือกาลเวลา” (Timeless) และ “ความประณีต”(Refinement) “สีดำ” (Black) สื่อถึง “พลังความหรูหรา” (Luxury) และ “ความลึกลับ” (Mystery) ในขณะที่ “สีขาว” (White) สื่อถึง “ความบริสุทธิ์” (Purity) โดยนอกจากสีขาวดำแล้ว “สีเทา” (Grey) ยังเป็นสีสำคัญที่เชื่อมโยงกับ Dior อย่างลึกซึ้ง
Christian Dior เองเป็นคนชื่นชอบสีเทา และได้นำมาใช้ในการตกแต่งร้านแรกของเขาที่ 30 Avenue Montaigne ในกรุงปารีส โดยสีเทาในบริบทของ Dior สื่อถึง “ความสง่างาม” (Elegance) “ความละเอียดอ่อน” (Refined) และ “ความเป็นกลางที่มีระดับ” (Sophisticated Neutrality) บางครั้งจึงถูกเรียกว่า “Gris Dior”
Christian Dior ยังมีความผูกพันกับ “สีชมพู” (Pink) ซึ่งเป็นสีของบ้านวัยเด็กของเขาใน Granville เขาเคยกล่าวว่าสีชมพูเป็น “สีที่อ่อนโยนที่สุด สีแห่งความสุข และความเป็นผู้หญิง” และเชื่อว่าผู้หญิงทุกคน ควรมีเสื้อผ้าสีชมพูอยู่ในตู้เสื้อผ้า สีชมพูใน Dior จึงสื่อถึง “ความสุข” (Happiness) “ความเป็นผู้หญิง” (Femininity) และ “ความอ่อนหวาน” (Sweetness) และมักถูกนำมาใช้ในคอลเลกชั่นและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
แบบอักษรมีพื้นฐานมาจากแบบอักษร Didot ซึ่งเป็นแบบอักษรที่ได้รับความนิยมในวงการ “แฟชั่นชั้นสูง” (High Fashion) มีลักษณะเด่น คือ เส้นที่หนาและบางตัดกันอย่างชัดเจน และเป็นอักษรแบบมีเชิง (Serif) ที่เรียวบาง ให้ความรู้สึก “ละเอียดอ่อน” (Refined) “หรูหรา” (Luxurious) “ประณีต” (Refinement) และ “ทันสมัย” (Modern) ไปในตัว โดยความเรียบง่ายของชื่อและการออกแบบ ก็แสดงถึงความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับวิสัยทัศน์ของ Dior ที่เน้น “ความสง่างาม” (Grace) “เสน่ห์” (Glamour) และ “ความมั่นใจ” (Confidence) และถึงแม้ว่าอาจจะดูเรียบง่ายไปหน่อย แต่โลโก้ Dior ก็สะท้อนถึงคุณค่าหลักของแบรนด์ (Brand Values) ออกมาได้เป็นอย่างดี

Prada ก่อตั้งโดย Mario Prada และเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันในด้าน “สติปัญญา” (Intellect) “ความทันสมัย” (Modernism) และ “การออกแบบที่ดูแหวกแนว” (Unconventional Design) ชื่อนี้มีความสง่างามแบบอิตาลี และมีความแข็งแกร่งของแบรนด์ ที่สะท้อนผ่านอัตลักษณ์ที่เรียบง่ายแต่ดูทรงพลัง โลโก้รูปทรงสามเหลี่ยมนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์ซาวอย” (House of Savoy) ซึ่งเป็นตระกูลที่เคยปกครองอิตาลี โดย Prada ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์นี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และการนำสัญลักษณ์นี้มาใช้เป็นการแสดงถึง “ความภาคภูมิใจในความเป็นอิตาลี” และ “ความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์”
การนำสัญลักษณ์ของราชวงศ์มาใช้บนวัสดุที่ดูเป็น “อุตสาหกรรม” อย่างโลหะเคลือบ สร้างความ “ขัดแย้งที่น่าสนใจ” ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการออกแบบของ Prada ที่มักจะผสมผสาน “ความหรูหรา” (Luxury) เข้ากับ “ความทันสมัย” (Modern) อย่างไม่คาดคิด ภายในสามเหลี่ยมจะมีชื่อแบรนด์ “Prada” ในแบบอักษร Serif (อักษรแบบมีเชิง) ที่มีลักษณะเฉพาะตัว และ ชื่อสถานที่ก่อตั้ง “Milano” ซึ่งเน้นย้ำถึงรากฐานของแบรนด์ในเมืองมิลาน โดยโลโก้สามเหลี่ยมนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ยังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความล้ำสมัย” (Modernity) “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) และ “การท้าทายขนบธรรมเนียม” (Defying Norms) ในวงการแฟชั่นอีกด้วย
Prada มักใช้สี “โทนขาวดำ” (Monochrome) เป็นโทนสีหลักในการสร้างแบรนด์ โดยการใช้สีที่เรียบง่ายและตัดกันอย่างชัดเจนนี้ สื่อถึง “ความทันสมัย” (Modern) “ความเฉียบคม” (Chicness) และ “ความสง่างาม” (Elegance) ที่ปราศจากการปรุงแต่ง “สีดำ” (Black) สื่อถึง “ความแข็งแกร่ง” (Strength) “ความมั่นใจ” (Confidence) “ความลึกลับ” (Mystery) และ “ความหรูหราแบบมินิมอล” (Minimal Luxury) ส่วน “สีขาว” (White) สื่อถึง “ความบริสุทธิ์” (Purity) “ความเรียบง่าย” (Simplicity) “ความชัดเจน” (Clearity) และ “ความเป็นสากล” (Universality)
แม้ว่า “สีขาวดำ” จะเป็นสีหลักแต่ Prada ก็มีการนำสีสันที่สดใสและแปลกใหม่ มาใช้ในคอลเลกชั่นต่างๆเพื่อสะท้อนถึงแนวคิดที่ “กล้าหาญ” (Courageous) และ “ไม่เหมือนใคร” (Distinctive) โดยสีเหล่านี้มักถูกนำมาใช้ในลักษณะที่คาดไม่ถึง และท้าทายความคาดหวังต่างๆ

Balenciaga เป็นชื่อที่ตั้งตามดีไซเนอร์ชาวสเปน Cristóbal Balenciaga ผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และได้วางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ให้ล้ำหน้าอยู่เสมอ และการสร้างแบรนด์สมัยใหม่ของพวกเขา ก็สะท้อนถึงแนวคิดที่ก้าวล้ำไปข้างหน้าอย่างถึงรากถึงโคน โดยโลโก้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีลักษณะเป็น “ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดที่หนาและแคบ แบบไม่มีเชิง” (San Serif) ซึ่งเป็นการสื่อถึงการออกแบบแบบ “Brutalist” อย่างตั้งใจ โดยแนวทางที่เน้นประโยชน์ใช้สอยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image)
ให้ดู “แข็งแกร่ง” (Robust) “โดดเด่น” (Distinctive) และเข้าถึง “สไตล์สตรีท” (Street Style)
Balenciaga ใช้โทนสี “ขาวดำ” (Black and White) ที่เรียบง่ายแต่ก็ความแข็งแกร่ง โดยตัดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อเน้น “เอกลักษณ์ที่ดูดิบและไม่ปรุงแต่ง” ตัวพิมพ์ที่หนักแน่นและโทนสีที่เรียบง่ายของ Balenciaga กลับสะท้อนถึง “ความเป็นปัจเจก” (Individuality) และ “ความกบฏ” (Rebellion) ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาแฟชั่นที่ล้ำสมัย และภาพที่แข็งกร้าวนี้ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของแบรนด์ในการ “ทลายกรอบ” และ “ท้าทาย” แนวคิดดั้งเดิมของความหรูหรา อีกด้วย

ชื่อแบรนด์ Versace นั้นมาจากชื่อของผู้ก่อตั้งที่ชื่อ Gianni Versace และนับว่ามีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก ที่ใช้หัวของเมดูซ่าเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ และด้วยคำพูดที่ว่า “เธอมีเสน่ห์ที่ทำให้ผู้คนหลงใหล โดยไม่มีทางหวนกลับ” (She made people fall in love with no way back) รูปปั้นในตำนานนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์โดยเนื้อแท้ของ “พลัง” (Power) “เสน่ห์เย้ายวน” (Allure) และ “การเปลี่ยนแปลง” (Transformation) ซึ่งเป็นการสื่อถึงแบรนด์ที่หยั่งรากลึกในความหรูหรา ที่น่าทึ่งและเย้ายวนใจได้อย่างสมบูรณ์แบบ
หัวเมดูซ่าอันเป็นเอกลักษณ์ถูกล้อมรอบด้วย “ลวดลายกรีก-โรมัน” ซึ่งเป็นการเลือกออกแบบที่จงใจ เพื่อเน้นย้ำความชื่นชอบของแบรนด์ที่มีต่อศิลปะคลาสสิก และอิทธิพลจากยุคโบราณ กลุ่มสีที่เป็นเอกลักษณ์ของ Versace ซึ่งจะมีทั้ง “สีดำ” (Black) “สีทอง” (Gold) และบางครั้งก็มี “สีแดงเข้ม” (Bold Red) ที่สื่อถึง “ความหรูหรา” (Luxury) “ความโดดเด่น” (Dominance) และ “ความหลงใหล” (Passion) อย่างชัดเจน
แบบอักษรที่ใช้ในโลโก้เป็นแบบอักษร Serif (อักษรแบบมีเชิง) ตัวพิมพ์ใหญ่และหนา ที่ช่วยขยายความอลังการและความหรูหรา อย่างไม่เกรงใจใครที่นิยามความเป็น Versace ในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่เมดูซ่าที่น่าดึงดูดไปจนถึงขอบลายคลาสสิก และโทนสีที่เข้มข้น เป็นการสะท้อนถึง “จิตวิญญาณอันหรูหรา” (Luxurious Spirit) และ “ความกล้าหาญ” (Boldness) ของแบรนด์อย่างแท้จริง

Yves Saint Laurent (YSL) เป็นชื่อของดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งโดยตรง ที่ยืนหยัดมาอย่างยาวนานในฐานะสัญลักษณ์ของ “แฟชั่นที่ทลายกรอบ” (Boundary-pushing Fashion) ผสานกับความประณีตแบบปารีส (Parisian Finesse) หัวใจสำคัญของอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) คือ “ลายสัญลักษณ์ YSL” อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของการผสานตัวอักษร ที่ออกแบบโดยศิลปินกราฟิกชื่อดัง A.M. Cassandre ในปี 1961 การออกแบบที่สง่างามนี้โดดเด่นด้วย การจัดเรียงตัวอักษรสามตัวในแนวตั้งอย่างลงตัว สื่อถึง “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (Unity) “ความซับซ้อน” (Sophistication) และแนวทางการออกแบบที่ “ก้าวหน้า” (Forward-Thinking)
แบรนด์ใช้โทนสี “ขาวดำ” (Black and White) ที่เด่นชัด ซึ่งเน้นย้ำถึง “ความบริสุทธิ์” (Purity) ของรูปทรงและ “ความสง่างามเหนือกาลเวลา” (Timeless) แบบอักษร Serif (อักษรแบบมีเชิง) ที่ใช้ในชื่อแบรนด์ช่วยเสริมลายสัญลักษณ์ มอบความรู้สึกของ “ความสง่างามแบบคลาสสิก” (Classic Elegance) ให้กับชื่อของแบรนด์ โดยรวมแล้วการสร้างแบรนด์ของ YSL ให้ความรู้สึกทั้งเป็น “ศิลปะ” (Artistic) และมี “ชั้นเชิง” (Sophisticated) ซึ่งสะท้อนถึงชื่อเสียงของแบรนด์ ในการปฏิวัติเสื้อผ้าสตรีด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัย เช่น ชุดทักซิโดสำหรับผู้หญิง ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่าง “วิสัยทัศน์ทางศิลปะ” (Artistic Vision) และ “สติปัญญาที่เฉียบแหลม” (Sharp Intellect)

Fendi ก่อตั้งขึ้นในกรุงโรมโดย Adele และ Edoardo Fendi ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านงานฝีมือเครื่องหนังและขนสัตว์ (Fur and Leather Craftsmanship) โลโก้ FF สองตัวย่อมาจาก “Fun Fur” ซึ่งออกแบบโดย Karl Lagerfeld ในปี 1965 ที่สื่อถึงจิตวิญญาณของแบรนด์ (Brand Spirit) ได้อย่างลงตัว นั่นคือแนวทางที่ “ขี้เล่น” (Playful) แต่ก็ “หรูหรา” (Luxury) อย่างปฏิเสธไม่ได้ และในการสร้างสรรค์แฟชั่นตัว F ที่สะท้อนกันก็ก่อให้เกิด “สัญลักษณ์คล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส” ที่ทั้งโดดเด่นและมีจังหวะที่น่าสนใจ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้แบรนด์ กลายเป็นที่จดจำได้อย่างรวดเร็ว
Fendi มักใช้ “โทนสีเหลืองสดใสและดำเข้ม” โดย “สีเหลือง” (Yellow) สื่อถึง “พลัง” (Energy) “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) และ “ความอบอุ่นของแสงแดดแห่งโรมัน” (Roman Sunshine) ในขณะที่ “สีดำ” (Black) ช่วยยึดความสดใสด้วยสัมผัสของ “ความหรูหราแบบคลาสสิก” (Classic Luxury) รูปแบบตัวอักษรของแบรนด์โดยทั่วไป คือ แบบ Sans-serif ที่ทันสมัย (อักษรแบบไม่มีเชิง) ที่มอบ “ความรู้สึกร่วมสมัย” (Contemporary) ที่ยังคงรักษาความน่าดึงดูดใจในระดับสูงไว้ได้
ท้ายที่สุดแล้วโลโก้และการออกแบบของ Fendi สะท้อนถึงความสมดุลที่กลมกลืนระหว่าง “ประเพณี” (Tradition) และ “นวัตกรรม” (Innovation) ทั้งหมดนี้ผสมผสานด้วยความโดดเด่นของ “ความสนุกสนาน” (Playful) และ “ความหรูหราที่โดดเด่น” (Flamboyance) ซึ่งสะท้อนถึงวิวัฒนาการของแบรนด์ จากผู้ผลิตขนสัตว์ไปสู่แบรนด์หรูหราระดับโลก ที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์
ในโลกของแฟชั่นแห่งความหรูหรา (Fashion Luxury Brands) ทุกรายละเอียดของการออกแบบนั้นมีความหมาย โดยแบรนด์ที่โดดเด่นเหล่านี้ไม่ได้สร้างแค่โลโก้ แต่พวกเขาสร้างตำนาน ผ่านการตั้งชื่อที่พิถีพิถัน สัญลักษณ์ที่มีความหมาย สีสันที่คัดสรรมาอย่างดี และแบบอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างปราณีต แบรนด์แฟชั่นแต่ละแบรนด์ได้ฉายภาพลักษณ์ของตนเอง สู่ทั้งโลกในแบบที่ไปไกลกว่าแค่การออกแบบ แต่ยังเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง (Storytelling) อารมณ์ (Emotion) และปรัชญาของแบรนด์ (Brand Philosophy)
จนกลายเป็นผลงานศิลปะและประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตและลมหายใจ และนั่นก็คือพลังที่แท้จริงของการสร้างแบรนด์หรูนั่นเอง