Google_AI_Mode_example

ในโลกของ Digital Marketing ที่มีความรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งมันก็มีไม่กี่สิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากมายมหาศาล เท่ากับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของวิธีที่ Google แสดงผลการค้นหา และพัฒนาการล่าสุดของโหมดการค้นหาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของ Google ซึ่งบางครั้งเรียกว่า Search Generative Experience (SGE) หรือเรียกง่ายๆว่า AI Overviews ก็เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่นักการตลาดและผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO ไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป

กลยุทธ์ SEO หรือ Search Engine Optimization แบบดั้งเดิม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเน้นไปที่การปรับแต่งคำหลัก (Keywords) และการสร้างลิงค์ กำลังถูกท้าทายโดย AI ที่เข้าใจเจตนาในการค้นหาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และให้คำตอบโดยตรงภายในหน้าผลการค้นหาในทันที วิวัฒนาการนี้กำลังปรับเปลี่ยนวิธีที่ผู้ใช้งานโต้ตอบกับการค้นหา และท้ายที่สุด ก็คือ วิธีที่ธุรกิจต้องเข้าถึง SEO เพื่อให้ยังคงมองเห็นได้และสามารถแข่งขันได้นั่นเอง

ในบทความนี้ผมจะมาสรุปถึง Google AI Mode ที่ได้เรียบเรียงและทำความเข้าใจจากแหล่งต่างๆ เพื่อดูว่า AI ของ Google นั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับการทำ SEO และมันมีวิธีในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไรกันบ้าง

รู้จัก Google AI Mode โฉมหน้าใหม่ของการค้นหา

Google AI Mode คือ การบูรณาการของแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models – LLMs) และปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) เข้ากับการค้นหา (Search) โดยตรง แทนที่จะแสดงเพียงรายการลิงค์ที่จัดอันดับตามความเกี่ยวข้อง ในขณะนี้ Google ได้สร้างบทสรุปตามบริบท (Contextual Summaries) คำตอบโดยตรง (Direct Answers) และข้อมูลเชิงลึกจากหลายแหล่ง (Multi-source Insights) มาแสดงบนหน้าผลการค้นหาได้แล้ว โดยมีคุณสมบัติหลัก ดังนี้

  • บทสรุปที่สร้างโดย AI (AI-Generated Summaries)
    เมื่อผู้ใช้ค้นหาอะไรก็ตาม AI จะสร้างบทสรุปที่กระชับ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์หลายแห่งด้วยกัน
  • คำตอบแบบไม่ต้องคลิก (Zero-Click Answers)
    ผู้ใช้จะได้รับคำตอบทันทีด้วยความรวดเร็ว ลดความจำเป็นในการคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์แต่ละแห่ง
  • การค้นหาแบบมัลติโมดัล (Multimodal Search)
    การค้นหาสามารถรวมรูปภาพ เสียง และวิดีโอ ควบคู่ไปกับข้อความได้
  • การค้นหาแบบสนทนา (Conversational Queries)
    ผู้ใช้สามารถถามคำถามเพิ่มเติมได้ และ AI ของ Google จะเข้าใจบริบทและขยายคำตอบตามนั้นได้ทันที
Google_AI_Mode

Image Source: https://www.zdnet.com

ลองนึกภาพว่าในเมื่อก่อนหากคุณต้องการรู้ถึง “สุดยอดกลยุทธ์การตลาดสำหรับปี 2025” คุณอาจจะต้องคลิกเข้าไปดูบทความหลายชิ้นจากเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มและกลยุทธ์ที่สำคัญ แต่ด้วย Google AI Mode หากคุณค้นหาคำว่า “สุดยอดกลยุทธ์การตลาดสำหรับปี 2025” คุณอาจจะเห็นผลลัพธ์ ดังนี้


ภาพรวมจาก Google AI Mode

สุดยอดกลยุทธ์การตลาดสำหรับปี 2025 มุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่เป็นส่วนตัว การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการวิเคราะห์ขั้นสูง การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์อย่างมีประสิทธิภาพ และการผสานรวมเทคโนโลยี AI ในแคมเปญต่างๆ นอกจากนี้ ความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: [ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ A], [ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ B], [ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ C]


ในตัวอย่างนี้ Google AI Mode ได้สรุปแนวโน้มและกลยุทธ์หลักๆมาให้คุณโดยตรง โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลายแห่ง ทำให้คุณได้ภาพรวมอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคลิกเข้าไปดูแต่ละเว็บไซต์ นอกจากนี้ หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม เช่น “แล้วกลยุทธ์ใดที่เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก” คุณก็สามารถถามต่อได้เลย และ AI ของ Google จะเข้าใจบริบทของการสนทนาก่อนหน้า และให้คำตอบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อ SEO เนื่องจากเว็บไซต์ต่างๆ อาจได้รับการเข้าชมโดยตรงจากหน้าผลการค้นหาน้อยลง เนื่องจากผู้ใช้ได้รับคำตอบที่ต้องการแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เปิดโอกาสใหม่ๆให้ธุรกิจต่างๆ ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นประโยชน์ เพื่อให้ AI ของ Google นำข้อมูลเหล่านั้น ไปใช้ในการสร้างบทสรุปและคำตอบ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชี่ยวชาญในที่สุด

ภาพตัวอย่างการค้นหาโดย Google AI Mode

Example_of_Google_AI_Mode

Image Source: https://www.maginative.com

Google AI Mode เปิดให้ใช้งานแล้วในขณะนี้ แต่ให้เฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2568) โดยคุณสมบัตินี้ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในระหว่าง “การประชุม Google I/O 2025” ที่ผ่านมา และขณะนี้ผู้ใช้ทุกคนในสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใน Search Labs


Google AI Mode กับผลกระทบต่อ SEO แบบดั้งเดิม

Google AI Mode คือ การบูรณาการของแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models – LLMs) และปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) เข้ากับการค้นหา (Search) โดยตรง แทนที่จะแสดงเพียงรายการลิงค์ที่จัดอันดับตามความเกี่ยวข้อง ในขณะนี้ Google ได้สร้างบทสรุปตามบริบท (Contextual Summaries) คำตอบโดยตรง (Direct Answers) และข้อมูลเชิงลึกจากหลายแหล่ง (Multi-source Insights) มาแสดงบนหน้าผลการค้นหาได้แล้ว โดยมีคุณสมบัติหลัก ดังนี้

1. อัตราการคลิกแบบ Organic จะลดลง

ในยุคก่อนหน้าเมื่อผู้ใช้ค้นหาข้อมูล พวกเขาจะได้รับรายการของลิงค์ทั้งหมด และต้องคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ที่น่าสนใจเพื่ออ่านรายละเอียดต่อ แต่ด้วย Google AI Mode ข้อมูลสำคัญจะถูกสรุป และแสดงผลบนหน้าค้นหาโดยตรง ทำให้ผู้ใช้ได้รับคำตอบที่ต้องการ โดยไม่ต้องคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ใดๆเลย ส่งผลให้จำนวนคลิกที่จะไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าเว็บไซต์ของคุณจะอยู่ในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาอยู่แล้วก็ตาม

2. Keywords มีความสำคัญน้อยกว่าบริบท

เมื่อก่อนนั้นการทำ SEO มักเน้นไปที่การใส่คำหลัก (Keywords) ที่ผู้คนใช้ค้นหาลงในเนื้อหาให้มากที่สุด แต่ด้วย AI ที่มีความสามารถในการเข้าใจภาษา ที่เป็นธรรมชาติและเจตนาของผู้ใช้ Google จะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สามารถตอบคำถาม และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการค้นหาได้อย่างแท้จริง มากกว่าการเน้นที่การปรากฏของคำหลัก (Keywords) เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพสูง (High Quality Content) การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุม และเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

3. เนื้อหาอาจถูกสรุปโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

หนึ่งในความกังวลที่สำคัญ สำหรับผู้สร้าง คนคิดเนื้อหา และนักการตลาด ก็คือ AI ของ Google อาจนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆมารวมกันและสรุปเป็นคำตอบ โดยไม่ได้ให้เครดิตหรือลิงค์กลับไปยังแหล่งข้อมูลเดิมอย่างชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่ควรจะได้รับ และยังลดโอกาสในการสร้างการรับรู้แบรนด์ให้กับเว็บไซต์เหล่านั้นด้วย

4. พฤติกรรมการค้นหาเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อผู้ใช้คุ้นเคยกับการได้รับคำตอบโดยตรงจาก AI พวกเขามีแนวโน้มที่จะถามคำถามที่ยาวขึ้น ซับซ้อนขึ้น และเป็นธรรมชาติมากขึ้น ที่เหมือนกับการสนทนากับบุคคล (แทนที่จะใช้เพียงคำหลักสั้นๆ) ดังนั้น กลยุทธ์ SEO ในอนาคตจะต้องมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจ “เจตนาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำถามเหล่านี้” และสร้างเนื้อหาที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ ได้อย่างครอบคลุมและเป็นประโยชน์ รวมถึงอาจต้องพิจารณาถึงการสร้างเนื้อหา ที่สามารถตอบคำถามต่อเนื่องในลักษณะของการสนทนา (Conversational Manner) ได้ด้วย

Google_Browser_Screenshort

ประเภทเว็บไซต์ที่อาจเกิดผลกระทบจาก Google AI Mode

การมาถึงของ Google AI Mode กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนค้นหาข้อมูล และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเว็บไซต์ประเภทต่างๆ ซึ่งแต่ละประเภทก็เผชิญกับความท้าทาย และโอกาสที่แตกต่างกันไป ดังนี้

ประเภทเว็บไซต์

ผลกระทบจาก Google AI Mode

เหตุผลหลัก

แนวทางปรับตัว

Blogs

ผลกระทบสูง Traffic

จะลดลงมาก เพราะ AI สรุปคำตอบให้ทันที

AI ดึงข้อมูลมาตอบตรง ทำให้ไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าเว็บไซต์

สร้างเนื้อหาที่ลึกขึ้น การแสดงข้อมูล Research การทำ Q&A และเน้น E-E-A-T

News

ผลกระทบสูง โดย AI

จะสรุปข่าวด่วน และรวมแหล่งข่าวในทันที

AI แสดงภาพรวมข่าวแบบ

Real-time โดยไม่ต้องคลิกเข้าเว็บไซต์

เน้นข่าวเจาะลึก สัมภาษณ์พิเศษ มุมมองเฉพาะของสำนักข่าว

Education

ผลกระทบสูง โดย AI สามารถตอบคำถาม การเรียนรู้พื้นฐานและสรุปบทเรียนได้

AI สรุปข้อมูลเชิงข้อเท็จจริง และขั้นตอนการเรียนรู้ได้ดีมาก

เพิ่มบทเรียนแบบ Interactive วิดีโอ และบทความโดยผู้เชี่ยวชาญ

Business Directory

ผลกระทบสูง โดย AI

จะแสดงข้อมูลสถานที่ Rating และโทรได้แบบทันที

AI ดึงข้อมูลเชิงโครงสร้างมาตอบตรง ทำให้ไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าเว็บไซต์

เพิ่ม Local Content การรีวิวผู้ใช้งาน ข้อมูลที่แตกต่างจากคู่แข่ง

Product Review

ผลกระทบสูง โดย AI

จะสรุปข้อดีข้อเสีย และเปรียบเทียบระหว่างสินค้าทันที

ผู้ใช้ได้ข้อมูลครบถ้วนจาก AI โดยไม่ต้องคลิก

เขียนรีวิวเชิงลึก มีวิดีโอสาธิต การแสดงความน่าเชื่อถือของผู้รีวิว

E-Commerce

ผลกระทบปานกลาง โดย AI แค่แนะนำสินค้า แต่ยังต้องคลิกเพื่อซื้อ

ผู้ใช้ยังต้องเข้าชมสินค้า หรือทำธุรกรรมโดยตรง

ใช้ Schema การรีวิว การให้ข้อมูลสินค้าแบบ Rich Snippet

Service Providers

ผลกระทบปานกลาง โดย AI ตอบคำถามพื้นฐานได้ แต่ก็ยังอาศัยเรื่องความเชื่อมั่น

ผู้ใช้ยังต้องการความน่าเชื่อถือ และข้อมูลเฉพาะบริการ

ทำ Local SEO เน้นการรีวิว สร้างบทความเชิงสนทนา และนำเสนอ Case Study

Forums / Online Community Sites

ผลกระทบปานกลาง โดย AI ใช้ข้อมูลจากชุมชน แต่ยังต้องการความคิดเห็นที่หลากหลาย

UCG ถือว่ามีความสดใหม่ และมีความหลากหลาย

กระตุ้นให้มีการพูดคุย การอัปเดตเนื้อหาบ่อย มีระบบดูแลคอมมูนิตี้

Corporate

ผลกระทบต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากการค้นหาชื่อแบรนด์ยังคงมีอยู่

แบรนด์ที่แข็งแรงยังได้รับ Traffic โดยตรง

Brand Storytelling สร้างภาพลักษณ์ บริหารชื่อเสียงบนโลกออนไลน์

Entertainment

ผลกระทบต่ำ โดยวิดีโอ เกม เพลง เป็นเนื้อหาที่ยากจะสรุปโดย AI

ผู้ใช้จะเข้าชมเนื้อหาโดยตรง

เพิ่มประสิทธิภาพด้านมัลติมีเดีย ทำเนื้อหาแบบ Exclusive Content

เว็บไซต์ประเภทบทความ (Blogs) ที่รวบรวมคอนเทนต์ต่างๆถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจาก AI สามารถสรุปเนื้อหาและให้คำตอบโดยตรงในหน้าผลการค้นหา ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์อีกต่อไป และเพื่อความอยู่รอดของ บล็อกเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องยกระดับความเชี่ยวชาญ (Expertise) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เหมือนใคร (Unique Insights) และปรับรูปแบบเนื้อหาให้ AI เข้าใจได้ง่าย เช่น การใช้โครงสร้างคำถาม-คำตอบ (Q&A) และข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Schema Markup) โดยบล็อกใดก็ตามที่นำเสนอข้อมูลหรือมุมมองที่ไม่มีใครเหมือน ก็จะสามารถสร้างความโดดเด่นได้

เว็บไซต์ประเภทข่าว (News) อาจสูญเสียจำนวนผู้เข้าชมเนื่องจาก AI สามารถสร้างบทสรุปข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่การรายงานข่าวแบบ Exclusive Report การทำข่าวเชิงสืบสวน (Investigation) และข่าวแบบสดใหม่ก็ยังคงมีคุณค่าอยู่ การเพิ่มมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์หรือเนื้อหาแบบ Multimedia ก็จะช่วยรักษาความสนใจของผู้ชมได้

เว็บไซต์ด้านการศึกษา (Education) ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับผลกระทบสูง เพราะ AI สามารถสรุปบทเรียนและข้อเท็จจริงได้ เว็บไซต์เพื่อการศึกษาจึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น การนำ Interactive Tools / Content มาใช้เพื่อให้เกิดการโต้ตอบ การทำเป็นวิดีโอการเรียนรู้ และคอนเทนต์ที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งให้ข้อมูลที่ลึกซึ้งกว่าคำตอบแบบพื้นฐาน

Example_of_Google_AI_Mode_Search_Results

เว็บไซต์ประเภท Business Directory ก็ได้รับผลกระทบสูงไม่แพ้กัน เนื่องจาก AI สามารถรวบรวมที่อยู่และคะแนนได้อย่างรวดเร็ว พวก Directory ต่างๆจึงอาจเผชิญกับการลดลงของจำนวนผู้เข้าชม เว้นแต่จะเพิ่มเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ มีรีวิวจากผู้ใช้งาน หรือปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

เว็บไซต์รีวิวสินค้า (Product Reviews) ก็หนีไม่พ้นถึงความเสี่ยงสูง โดย AI สามารถสร้างบทสรุปถึงข้อดีและข้อเสียของผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเว็บไซต์ประเภทรีวิว ดังนั้น การนำเสนอรีวิวที่ละเอียดมากขึ้นและเป็นของแท้ การมีคำรับรองในรูปแบบวีดิโอ และมีการบ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับเว็บไซต์เหล่านี้ได้

เว็บไซต์ประเภท E-Commerce ถึงแม้ว่า AI จะสามารถแสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์ได้ แต่โดยทั่วไปผู้ใช้ยังคงต้องการเข้าชมเว็บไซต์ เพื่อทำการซื้อให้เสร็จสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม E-Commerce ยังคงต้องปรับปรุงข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้วย Schema Markup มีป้ายกำกับหรือสารบัญที่ช่วยให้ Google รู้ว่าหน้าเว็บนี้เกี่ยวกับอะไร เช่น เป็นหน้าสินค้า หน้าบทความ หน้ากิจกรรม หรือหน้าแสดงรีวิว เพื่อให้ AI เข้าใจข้อมูลได้ดีขึ้น ส่งเสริมให้ลูกค้าเขียนรีวิว และสร้าง Rich Snippets ที่น่าสนใจ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการมองเห็น

Exmple_of_Rich_Snippets

เว็บไซต์ผู้ให้บริการ (Service Providers) นั้นถือว่าอยู่ในความเสี่ยงปานกลาง โดยคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับบริการต่างๆก็อาจถูก AI ตอบได้ แต่มันก็จะมีผู้ใช้ที่มักจะมองหาผู้ให้บริการในท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น เว็บไซต์ของผู้ให้บริการควรเน้นการทำ SEO ในระดับท้องถิ่น (Local SEO) มีการรวบรวมรีวิวจากลูกค้า (Customer Reviews) และสร้างเนื้อหาที่ตอบคำถามเฉพาะของลูกค้า ในลักษณะที่เป็นการสนทนา (Conversational Content) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ

เว็บไซต์ที่เป็น Forum และ Online Community กับการทำ User-Generated Content (UGC) Link ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับ AI ในการเรียนรู้ และยังมีความสำคัญในแง่ของความหลากหลายของความคิดเห็น การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และการดูแลจัดการเนื้อหาให้มีคุณภาพ จะช่วยให้เว็บไซต์เหล่านี้ยังคงมีความเกี่ยวข้องสูงอยู่

เว็บไซต์ประเภทที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ ก็คือ เว็บไซต์องค์กร (Corporate) โดยแบรนด์ต่างๆจะได้รับประโยชน์จากการค้นหาชื่อแบรนด์โดยตรง และชื่อเสียงของแบรนด์ถือว่ามีส่วนสำคัญมากๆ แม้ว่า AI จะสามารถตอบคำถามบางอย่างเกี่ยวกับแบรนด์ได้ก็ตาม แต่การเล่าเรื่องราวของแบรนด์ (Brand Storytelling) Link ที่แข็งแกร่ง และการบริหารจัดการชื่อเสียงเชิงรุก (Proactive Reputation Management) จะช่วยรักษาจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้ดีขึ้น

และอีกหนึ่งประเภท ก็คือ เว็บไซต์บันเทิง (Entertainment) ที่มีเนื้อหาจำพวกวิดีโอ เกม เพลง และความบันเทิงรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในแบบ Interactive Content Link เป็นสิ่งที่ AI ทำซ้ำหรือสรุปให้สมบูรณ์ได้ยาก ทำให้ผู้ใช้ยังคงต้องการเข้าชมเว็บไซต์โดยตรงอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น การปรับปรุงประสบการณ์การให้เกิดการใช้งานแบบ Multimedia จึงเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น

โดยรวมแล้ว Google AI Mode กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการค้นหาอย่างมีนัยสำคัญ เว็บไซต์แต่ละประเภทจะต้องปรับตัวและพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ยังคงสามารถดึงดูดผู้เข้าชม รักษาความเกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องทำ AI มองเห็นว่าเว็บไซต์ของคุณนั้น มีคุณค่ามากพอที่จะนำมาประมวลผลและนำเสนอในหน้าค้นหา

ปรับกลยุทธ์ SEO ให้เข้ากับยุค AI ด้วยการ “คิดใหม่” “ทำใหม่” เพื่อการเติบโต

ในโลกที่เทคโนโลยีอย่าง AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลง “วิธี” และ “รูปแบบ” ของการค้นหาข้อมูล นักการตลาดอย่างเราๆจึงต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” กับกลยุทธ์การทำ SEO แบบเดิมๆที่เคยคุ้นชินกันมา การยึดติดอยู่กับแค่การทำอันดับด้วย Keywords เพียงอย่างเดียว หรือการทำคอนเทนต์แบบปกติ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพออีกต่อไป เรามาเจาะลึกถึงแนวทางการปรับตัวใหัทันกับยุคของ AI กันครับ

1. สร้าง Experience-Rich Content เน้นประสบการณ์จริง และความน่าเชื่อถือ

Google AI ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับหลักการ E-E-A-T (ซึ่งเป็นหลักการเดิม) ที่ประกอบไปด้วย Experience (ประสบการณ์) Expertise (ความเชี่ยวชาญ) Authoritativeness (ความน่าเชื่อถือ) และ Trustworthiness (ความไว้วางใจ) นั่นหมายความว่า เนื้อหาที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาต้องไม่ได้มีแค่ข้อมูล แต่ต้อง “มีชีวิต” จาก “ประสบการณ์จริง” ของผู้เขียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องมี “ความรู้ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องนั้นๆจนเป็นที่ยอมรับ และสร้างความไว้วางใจให้กับผู้อ่านได้ ตัวอย่างเช่น

หากคุณเขียนบทความเกี่ยวกับ “วิธีการเลี้ยงแมวเปอร์เซีย” การใส่ “ประวัติผู้เขียนพร้อมคุณวุฒิ” เช่น “สพ.ญ.สมศรี ผู้มีประสบการณ์เลี้ยงแมวเปอร์เซียกว่า 15 ปี” จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้ การ “แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ตรง” เช่น “จากประสบการณ์ของตัวหมอเอง การเลือกอาหารเม็ดที่มีโปรตีนสูงสำหรับลูกแมว จะช่วยให้พวกเขามีขนที่สวยงามและแข็งแรง” พร้อม “ยกตัวอย่างกรณีศึกษา” (Case Study) เกี่ยวกับแมวที่คุณเคยเลี้ยง หรือ “นำเสนอผลงานวิจัยต้นฉบับ” (Original Research Report) เกี่ยวกับสายพันธุ์แมว ก็จะทำให้เนื้อหาของคุณโดดเด่นและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ก็คือ “หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ดูเป็นสูตรสำเร็จ” หรือข้อมูลทั่วไปที่ AI สามารถสร้างหรือสรุปได้อย่างง่ายดาย

Gray_Persian_Cat_on_the_Bed

2. ปรับแต่งเนื้อหาให้ตอบคำถามได้โดยตรง (Answer Engine Optimization – AEO)

ตั้งแต่ ChatGPT เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดรูปแบบการตั้งคำถามมากขึ้น ผู้คนจะเริ่มถามคำถามกับ Search Engine โดยตรง การปรับแต่งเนื้อหาของคุณให้สามารถ “ตอบคำถามได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด หรือที่เราเรียกว่า Answer Engine Optimization (AEO) นั่นเอง ตัวอย่างเช่น

การใช้ส่วน “คำถามและคำตอบ” (Q&A หรือ FAQ) ในหน้าผลิตภัณฑ์ เช่น “ครีมบำรุงผิวหน้าสูตรกลางคืนนี้เหมาะกับผิวประเภทใด” พร้อมคำตอบที่กระชับ หรือการ “ให้คำตอบที่ตรงประเด็นไว้ในย่อหน้าแรก” ของบทความ เช่น หากผู้ใช้ค้นหา “Brand Promise คืออะไร” ย่อหน้าแรกควรสรุปความหมายเบื้องต้น เช่น “คำมั่นสัญญาของแบรนด์ (Brand Promise) คือ คำสัญญาที่ชัดเจนและน่าดึงดูดใจ ซึ่งสื่อสารถึงคุณค่าที่ธุรกิจมุ่งมั่นจะมอบให้กับลูกค้า ก่อนนำไปสู่รายละเอียดอื่นๆ นอกจากนี้การใช้ Structured Data (Schema Markup) ประเภทต่างๆ เช่น การระบุว่าเป็น FAQ Page หรือ HowTo จะช่วยให้ Google เข้าใจบริบทของเนื้อหาและอาจนำไปแสดงเป็น Rich Snippets ในผลการค้นหาได้ และที่สำคัญคือ “เขียนด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติ เหมือนกำลังสนทนากับผู้ใช้” โดยใช้คำถามที่พวกเขาอาจใช้ในการค้นหา

Feature_Snippets_Popticles

3. ยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้และโครงสร้างเว็บไซต์ (User Experience & Technical SEO)

ถึงแม้ AI จะฉลาดขึ้นแต่ Google ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ที่มอบ “ประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน” และมีโครงสร้างทางเทคนิคที่แข็งแรง ตัวอย่างเช่น การทำให้เว็บไซต์ “โหลดเร็ว” (Fast Page Speeds) ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ใช้งานจะไม่รอเว็บไซต์ที่โหลดช้า การปรับแต่งเว็บไซต์ให้รองรับ “การแสดงผลบนมือถือ” (Mobile-First Indexing) ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ในยุคที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ การสร้าง “ระบบนำทาง” ที่ชัดเจนและ “การเชื่อมโยงภายใน” (Clear Navigation and Internal Linking) จะช่วยให้ผู้ใช้และ Bot ของ Google สามารถค้นหา และทำความเข้าใจเนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณได้ง่ายขึ้น


4. สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและสร้างฐานผู้ติดตามของคุณเอง (Brand Strength & Own Your Audience)

เนื่องจากการที่ AI อาจสรุปเนื้อหาและแสดงผลโดยตรง ทำให้ผู้ใช้อาจไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ของเรา “การสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มเป้าหมาย” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น การสร้าง “รายชื่อผู้รับอีเมล์” (Email Lists) และการสร้าง “ผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย” (Social Media Followers) จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง การสร้าง “ชุมชนออนไลน์” (Online Communities) และสร้าง “เนื้อหาแบบโต้ตอบ” (Interactive Content) เช่น แบบสำรวจ (Survey) หรือ Webinar จะช่วยสร้างความผูกพันเพิ่มมากขึ้น การสนับสนุนให้ “ผู้ใช้สร้างเนื้อหาเอง” (User-Generated Content) Link และ “การรีวิว” (Reviews) จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น การส่งเสริม “การจดจำในตัวแบรนด์” (Brand Recognition) Link อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ใช้ค้นหาชื่อแบรนด์ของคุณโดยตรง เมื่อต้องการข้อมูลหรือสินค้านั้นๆได้


5. สร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบที่หลากหลาย (Diversify Content Formats)

AI อาจมีความสามารถในการสรุปข้อความได้ดี แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ และทำความเข้าใจเนื้อหาในรูปแบบที่ไม่ใช่ข้อความ ตัวอย่างเช่น การผลิต “วิดีโอสอนการใช้งานผลิตภัณฑ์” (Product Demonstration Videos) การสร้าง “พอดแคสต์” (Podcasts) เพื่อพูดคุยในหัวข้อที่น่าสนใจ การออกแบบ “อินโฟกราฟิก” (Infographics) เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย การสร้าง “เครื่องมือแบบโต้ตอบ” (Interactive Tools) เช่น เครื่องคำนวณ หรือแบบทดสอบ จะช่วยดึงดูดและสร้างความผูกพันกับผู้ใช้งาน ได้ดีกว่าเนื้อหาที่เป็นข้อความเพียงอย่างเดียว การใช้ “เล่าเรื่องราว” (Storytelling) ในเนื้อหา ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ (Emotional Connection) Link และความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) Link

การปรับตัวให้เข้ากับยุค AI ในโลก SEO ไม่ได้หมายถึงการทิ้งกลยุทธ์เดิมทั้งหมด แต่เป็นการ “ผสมผสาน” กลยุทธ์พื้นฐานที่ดีเข้ากับแนวทางใหม่ๆ ที่เน้นคุณภาพ (Quality) ประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience) และการสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริง (Real Connection) กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ธุรกิจของคุณยังคงเติบโตและประสบความสำเร็จ ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ตารางเปรียบเทียบ Google AI Mode vs. ChatGPT

เนื่องจาก Google AI Mode นั้นมีความคล้ายกับ ChatGPT อยู่พอสมควร ผมเลยลองค้นคว้าข้อมูลจากหลายๆแหล่ง เพื่อดูว่าหากนำมาเทียบความแตกต่างแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร เราลองมาดูสรุปความแตกต่างในตารางนี้กันครับ

หัวข้อ / แง่มุม

Google AI Mode (AI Overviews)

ChatGPT (OpenAI)

หน้าที่หลัก

เสริมประสิทธิภาพการค้นหา ด้วยการสรุปคำตอบจากเว็บไซต์โดยตรงในหน้าผลการค้นหา (SERP)

ผู้ช่วย AI แบบโต้ตอบ ที่สามารถสร้างคำตอบได้หลากหลายตามคำสั่งของผู้ใช้

แหล่งข้อมูล

ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์แบบ Real-time

ฝึกจากข้อมูลสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อมูลได้รับอนุญาต

การอ้างอิง / เครดิตแหล่งที่มา

มีการอ้างอิงผ่านตัวเลขกำกับ พร้อมลิงก์อ้างอิงไปยังแหล่งต้นฉบับ (รูปแบบ Cards หรือ Superscripts)

ไม่มีการอ้างอิงแบบเรียลไทม์ (เว้นแต่จะใช้ Plugin เสริม)

เข้าถึงเว็บไซต์แบบ Real-time

สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้แบบ Real-time เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Google Search โดยตรง

มีข้อจำกัด โดยต้องเปิดใช้งานผ่าน Web Browser หรือใช้ API เท่านั้น

วัตถุประสงค์ของผู้ใช้

ตอบสนองความต้องการข้อมูลทันที เช่น คำถามแบบหาคำตอบอันรวดเร็ว หรือหาข่าว

รองรับหลายวัตถุประสงค์ เช่น เขียนบทความ วางแผน เขียนโค้ด วิเคราะห์

ลักษณะการโต้ตอบ

ไม่โต้ตอบ เป็นคำตอบแบบสรุป

ไม่มีบริบทย้อนหลัง

โต้ตอบได้ต่อเนื่องและจดจำบริบทได้

(ถ้าเปิด Memory Mode)

ความไวต่อโครงสร้างข้อมูล

มีผลอย่างมากโดยเฉพาะกับ Structured Data เช่น FAQ, HowTo, Product Review

ไม่พึ่งโครงสร้างเท่า Google (เว้นแต่ผู้ใช้ระบุคำสั่งเฉพาะ)

กรณีการใช้งานหลัก

คำตอบเร็ว ข้อมูลสินค้า Local Content การสรุปข่าว

UCG ถือว่ามีความสดใหม่ และมีความหลากหลาย

โฆษณาและการสร้างรายได้

มีโฆษณารอบๆ AI Overviews เช่นเดียวกับผลการค้นหาอื่นๆ

ไม่มีโฆษณา โดยมีรายได้มาจากค่าสมัครสมาชิก และบริการ API

การปรับให้เหมาะกับผู้ใช้

ใช้ข้อมูลบัญชี Google ประวัติการค้นหา ตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อปรับผลลัพธ์

มีข้อจำกัดเว้นแต่เปิด Memory Mode

หรือมีการตั้งค่าเฉพาะ

Google AI Mode หรือที่รู้จักกันในชื่อ AI Overviews (AIO) ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์การค้นหาแบบดั้งเดิมของ Google โดยการให้คำตอบแบบสรุป แก่ผู้ใช้โดยตรงภายในหน้าผลการค้นหา (Search Engine Results Page – SERP) ด้วยการดึงข้อมูลแบบ Real-time จากทั่วทั้งเว็บไซต์ และอ้างอิงแหล่งที่มาดั้งเดิมผ่านลิงค์หรือการ์ด (Cards) หรือกล่องข้อมูลสั้นๆที่มองเห็นได้ สิ่งนี้ทำให้ AI มีประสิทธิภาพสูงในการตอบสนองต่อคำถาม ที่ต้องการคำตอบทันทีและอิงตามข้อเท็จจริง เช่น การค้นหารายละเอียดผลิตภัณฑ์ รายชื่อธุรกิจในท้องถิ่น หรือเนื้อหาให้ความรู้สั้นๆ ความเข้าใจและการแสดงผลของ AI ยังได้รับอิทธิพลจากข้อมูลที่มีโครงสร้างบนหน้าเว็บไซต์ รวมถึงความสดใหม่และความน่าเชื่อถือของเนื้อหาอีกด้วย เนื่องจากมันถูกรวมเข้ากับระบบนิเวศของ Google อย่างเต็มรูปแบบ มันจึงรองรับโฆษณาและการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้ โดยอิงจากตำแหน่งที่ตั้งและประวัติการค้นหาของผู้ใช้

ในทางกลับกัน ChatGPT โดย OpenAI ทำงานเป็นผู้ช่วย AI เชิงสนทนา (Conversational AI) โดยแทนที่จะยกระดับการค้นหา แต่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อการโต้ตอบ การระดมความคิด และการทำงานให้สำเร็จ ตั้งแต่การระดมสมองและการเขียน ไปจนถึงการเขียนโค้ดและการแก้ปัญหา ChatGPT ไม่ได้ดึงข้อมูลแบบ Real-time (เว้นแต่จะเปิดใช้งานการเรียกดู หรือการติดตั้ง ​Plugins) ดังนั้น ChatGPT จึงไม่แสดงการอ้างอิงแบบสดๆด้วยค่าเริ่มต้น และไม่ได้พึ่งพาข้อมูลที่มีโครงสร้าง (Schema Markup) เหมือนกับ Google แต่ก็สามารถตีความคำสั่งที่มีโครงสร้างได้เช่นกัน ด้วยการเปิดใช้งานหน่วยความจำ ChatGPT สามารถจดจำบทสนทนาที่ผ่านมาได้ ทำให้มีการโต้ตอบกันมากขึ้น ในขณะที่ไม่มีโฆษณาภายใน ChatGPT (ณ ขณะนี้) โดยรูปแบบรายได้ของ CharGPT อิงจากการสมัครสมาชิก (ChatGPT Plus/Pro) และการใช้งาน API ซึ่งแตกต่างจาก Google ที่รวมโฆษณาไว้ในการค้นหา

โดยสรุป Google AI Mode เป็นเครื่องมือยกระดับการค้นหา ซึ่งปรับให้เหมาะสมสำหรับการตอบคำถามที่รวดเร็ว และเป็นแบบ Real-time ในขณะที่ ChatGPT เป็นผู้ช่วย AI ที่ค่อนข้างอเนกประสงค์ ซึ่งออกแบบมาสำหรับงานที่มีความซับซ้อนและมีการโต้ตอบมากกว่า เครื่องมือทั้งสองนี้เสริมซึ่งกันและกัน แต่ทำงานด้วยฟังก์ชัน แหล่งข้อมูล และประสบการณ์ผู้ใช้ที่แตกต่างกัน เช่น หากเราพิมพ์ค้นหาคำค้นบน Google AI Overviews ว่า “Best laptops for students 2025” ผลลัพธ์จะต่างกัน ดังนี้

  • Google AI Mode จะสรุปเป็นรายชื่อเครื่อง Laptop ที่แนะนำ พร้อมลิงค์เพื่อไปสู่บทความนั้นๆ
  • ChatGPT จะให้คำตอบที่มีโครงสร้างตามความรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง (Training Data) หรือจาก Plugins/Tools ที่เปิดใช้งาน ซึ่งจะให้ข้อมูลแบบมีโครงสร้าง (Structured Responses) มากขึ้น เช่น ตารางอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด ราคาหุ้นแบบกราฟ สูตรการคำนวณพร้อมแสดงสมการ โดยอาจต้องตั้งคำถามเพิ่มเติมเพื่อปรับแต่งรายการให้ดียิ่งขึ้น

จุดแข็งของ Google AI Mode

  • ให้คำตอบและบทสรุปที่เป็นข้อเท็จจริงได้รวดเร็วกว่า
  • เชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลแบบ Real-time
  • เหมาะสำหรับการค้นหาข้อมูลอย่างรวดเร็ว หรือความต้องการค้นหาในแบบ Local Search

จุดแข็งของ ChatGPT

  • เก่งกว่าในการคิดเชิงลึก การอธิบาย และการสร้างเนื้อหาที่มีความยาว
  • จัดการกับการให้เหตุผล และการสนทนาที่ซับซ้อน ที่มีหลากหลายขั้นตอนได้ดี
  • มีประโยชน์สำหรับการศึกษา การวางแผน การเขียน และการระดมสมอง ในการทำโครงการต่างๆค่อนข้างสูง

เหตุผลที่ Social Media ได้เปรียบมากขึ้นในยุคของ AI

Social_Media_Icon_in_Desktop

1. การมีส่วนร่วมกับผู้ชมโดยตรง

โซเชียลมีเดียช่วยให้แบรนด์และผู้ชม สามารถสื่อสารกันได้โดยตรงและเฉพาะเจาะจง โดยไม่ต้องผ่านเครื่องมือค้นหาและกล่องคำตอบของ AI ทำให้ผู้ใช้สามารถเลื่อนดู สร้างปฏิสัมพันธ์ แสดงความคิดเห็น และแชร์สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่บทสรุปของ AI ไม่สามารถแทนที่ หรือเลียนแบบได้อย่างง่ายดาย

2. การค้นพบเนื้อหาและโอกาสในการแพร่กระจาย

โซเชียลมีเดียไม่สามารถให้คำตอบได้ในทันที ต่างจากการค้นหาที่ AI สามารถให้คำตอบได้ทันที โดย Social Media Feeds อาศัยอัลกอริธึมการมีส่วนร่วม ที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหา “ที่ผู้คนต้องการเห็น” และ “มีปฏิสัมพันธ์ด้วย” ทำให้เนื้อหาสามารถแพร่กระจาย และเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้โดยธรรมชาติ หรือผ่านการโปรโมทแบบเสียเงิน

3. Rich Multimedia และการผสานรวมกับ Influencer

โซเชียลมีเดียรองรับเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ เช่น วิดีโอ (Video) สตอรี่ (Stories) รีล (Reel) ไลฟ์สตรีม (Live Streaming) และการร่วมงานกับ Influencer ที่สร้างความผูกพันทางอารมณ์ และความไว้วางใจที่แข็งแกร่ง เป็นสิ่งที่ AI ทำได้ยากมากหรือโอกาสที่จะมาแทนที่ ก็คงยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้

4. การกำหนดเป้าหมายที่ดีขึ้นและ ROI ที่วัดผลได้สำหรับผู้ลงโฆษณา

โฆษณาบนโซเชียลมีเดียมีการกำหนดเป้าหมายขั้นสูง (ข้อมูลประชากร ความสนใจ พฤติกรรม) การวัดผลการมีส่วนร่วมและ Conversion Rate ที่แม่นยำ ทำให้การใช้จ่ายในการโฆษณา มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับโฆษณาแบบ Display Ads ทั่วๆไปบนเว็บไซต์ข่าวที่ได้รับผลกระทบจาก AI โดยตรง

5. เวลาที่ใช้บนแพลตฟอร์มโซเชียลที่เพิ่มขึ้น

การที่มีผู้ชมใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียที่มากขึ้น ทำให้แบรนด์ต่างๆก็จะตามติดผู้ชมไปตลอด โดยการปรับงบประมาณการตลาดให้สอดคล้องกับที่ที่ความสนใจนั้นเข้าไปอยู่

นักการตลาดมีแนวโน้มที่จะจัดสรรงบประมาณมากขึ้น ให้กับการโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, TikTok, LinkedIn และ YouTube รวมไปถึง Influencer Marketing และการสร้างชุมชนออนไลน์ (Online Communities) แบรนด์ต่างๆจะลงทุนมากขึ้นในการสร้างคอนเทนต์ที่ “น่าสนใจ” และ “แชร์ได้ง่าย” รวมถึงการดูแลชุมชนที่ภักดีบนช่องทางโซเชียลมีเดีย ท้ายที่สุด Social Media Marketing จะถูกรวมเข้ากับช่องทางที่เป็นของแบรนด์เอง เช่น อีเมล์ แอปพลิเคชัน และโฆษณาแบบเสียเงิน เพื่อสร้างการเข้าถึงแบบหลายช่องทาง (Multi-Channel Approach) โดยลดการพึ่งพาการเข้าชมที่มาจากการทำ SEO เพียงอย่างเดียว


ในยุคที่ Google ขับเคลื่อนด้วย AI ผ่านฟีเจอร์อย่าง Google AI Mode หรือ AI Overviews แนวทางการทำ SEO แบบเดิมก็อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เว็บไซต์ต่างๆจึงต้องปรับตัวโดยเน้นคุณภาพ ความเชี่ยวชาญ ความเฉพาะตัว และโครงสร้างข้อมูลที่ชัดเจน (Structured Data) เพื่อให้ยังคงปรากฏอยู่ในผลการค้นหา แม้ว่าผู้ใช้อาจไม่คลิกเหมือนเดิมแล้วก็ตาม และยิ่งไปกว่านั้น การสร้างแบรนด์ (Branding) การมีบทวิเคราะห์เชิงลึก (In-depth Analysis) และการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณค่า (Value Content) ในมุมที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ SEO ยุคใหม่ หรือยุคที่ “แค่ติดอันดับ” คงไม่พอ แต่ต้อง “เป็นที่น่าเชื่อถือและมีคุณค่าพอให้ถูกเลือกอ้างอิงโดย AI” นั่นเอง


Share to friends


Related Posts

10 เทคนิคช่วยปรับแต่ง On-page SEO ให้เว็บไซต์ติดอันดับต้นๆ

เว็บไซต์กับธุรกิจในยุคดิจิทัลกลายเป็นของคู่กันอย่างขาดไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะมีธุรกิจไหนที่ไม่มีเว็บไซต์กันในปัจจุบัน เพราะเว็บไซต์คือช่องทางที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ค้นหาข้อมูลของธุรกิจ สินค้า บริการ และเรื่องราวของคุณ ด้วยวิธีการค้นหาผ่าน Google และ Search Engine อื่นๆ เว็บไซต์ก็เปรียบเสมือนหน้าบ้านออนไลน์ของธุรกิจคุณนั่นแหละครับ


รวมประเภท SEO Keywords เพื่อการจัดอันดับ Website Ranking ที่ดีขึ้น

คำค้นหาหลักหรือ Keywords คือ รากฐานของการทำ Search Engine Optimization (SEO) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้เนื้อหาของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมในเวลาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คำค้นหาไม่ได้มีบทบาทเหมือนกันทั้งหมด บางคำดึงดูดกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ ในขณะที่บางคำมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเฉพาะหรือกระตุ้นการซื้อทันที การจะประสบความสำเร็จใน SEO คุณจำเป็นต้องเข้าใจประเภทของคำค้นหา ความสำคัญ


ปัจจัยที่มีผลต่อการทำ SEO ให้ติดอันดับต้นๆบน Google

SEO หรือ Search Engine Optimization นั้นคือ การทำเว็บไซต์ของคุณให้มีประสิทธิภาพ เพื่อติดอันดับ (Ranking) บน Search Engine อย่าง Google โดยมันจะมีองค์ประกอบทั้งด้านเนื้อหา การออกแบบ และเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างเว็บไซต์ ซึ่งโดยปกติแล้วในการที่ผู้บริโภค ลูกค้า หรือคนที่สนใจในเรื่องอะไรบางอย่าง ก็จะเข้ามาหาข้อมูลใน Google เพื่อดูว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ตรงกับความสนใจของพวกเขานั่นเอง



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์