Example_AI_Influencer_by_Fotor

ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆก็พยายามต่างมองหาวิธีใหม่ๆ ในการเชื่อมโยงประสบการณ์กับผู้บริโภคให้ดีกว่าเดิมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการตลาดมากที่สุด ก็คือ การใช้ผู้มีอิทธิพลเสมือนจริง หรือที่เรียกว่า อินฟลูเอ็นเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencer) ให้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังวนการนำเสนอแบรนด์ บทความนี้ผมจะพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจและสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับ Virtual Influencer ว่าเหตุใดจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในยุคนี้

What's next?

ความหมายของ Virtual Influencer

Virtual Influencer หรือ ผู้มีอิทธิพลเสมือนจริง (Influencer เสมือนจริง) ก็คือ ตัวละครดิจิทัลที่สร้างขึ้นโดยการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphic – CG) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ซึ่งต่างจาก Influencer แบบดั้งเดิมที่เป็นคนจริงๆ Virtual Influencer ถือเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นที่ได้รับการออกแบบให้มีบุคลิกภาพ (Personality) มีลักษณะ (Character) มีเรื่องราวเบื้องหลัง (Story) และมีรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์แบบเฉพาะตัว (Appearance) บนโลกออนไลน์เท่านั้น ซึ่งโดยปกติจะอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นหลัก และสามารถโต้ตอบกับผู้ชมได้เช่นเดียวกับ Influencer ที่เป็นคนจริงๆ เช่น การโพสต์เนื้อหา แบ่งปันความคิดเห็น และโปรโมตผลิตภัณฑ์ และก็มีหลายๆอุตสาหกรรมนำเอา Virtual Influencer มาใช้กับการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ในรูปแบบต่างๆ


ทำไม Virtual Influencer ถึงสำคัญมากในยุคนี้

Virtual Influencer มอบทางเลือกที่ดูสดใหม่ สามารถปรับแต่งได้ตามจินตนาการ และสามารถควบคุมพฤติกรรมได้แบบไม่มีวันแก่ชรา ทำให้เราสามารถควบคุมพฤติกรรมได้อย่างเต็มที่ และมั่นใจได้ว่าจะปราศจากเรื่องอื้อฉาวที่อาจทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ และด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ก็ทำให้ Virtual Influencer สามารถเชื่อมโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญและชื่นชอบด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z ที่สามารถสรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
    การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้โลกเสมือนจริงนั้นกลายเป็นกระแสหลักในการทำการตลาด
  • ความชื่นชอบของผู้บริโภค
    Virtual Influencer สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆและเป็นประสบการณ์แบบเหนือจริงได้
  • เป็นเครื่องมือป้องกันวิกฤต
    แบรนด์จะได้รับการปกป้องเพราะ Virtual Influencer เปรียบเสมือนโล่ห์กำบังไม่ให้สื่อสารหรือประพฤติตัวเสื่อมเสีย รวมไปถึงสามารถควบคุมการสื่อสารอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
Example of Virtual Influencer Created by AI

นำ Virtual Influencer มาใช้เป็นกลยุทธ์ของแบรนด์อย่างไร

ถ้าสำหรับแบรนด์แล้วนั้นก็จะเป็นการนำเอา Virtual Influencer มาควบคุมการสื่อสารและเชื่อมโยงให้เข้าหรือสอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์ (Core Values) รวมถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเนื่องจาก Virtual Influencer ถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ จึงทำให้มีราคาย่อมเยาว์กว่ามนุษย์จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้างความร่วมมือในระยะยาว ดังนั้นหากมีการจัดการที่เหมาะสม Virtual Influencer จะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้ชมทั่วโลกได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านการเดินทาง โดยนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ได้ ดังนี้

  • ควบคุมการจัดการแบรนด์
    สามารถออกแบบและควบคุมแง่มุมต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะออกมาสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ทั้งหมด
  • ขยายฐานให้กับธุรกิจ
    Virtual Influencer สามารถโต้ตอบกับผู้ชมทั่วโลกได้หลากหลายภาษาและวัฒนธรรม โดยไม่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ใดๆ
  • ประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน
    แม้ว่าการลงทุนในช่วงเริ่มแรกอาจค่อนข้างสูง แต่โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระยะยาว จะมีต่ำกว่าการใช้ Influencer ที่เป็นมนุษย์ที่ต้องจ้างเป็นแคมเปญ

3 รูปแบบของ Virtual Influencer

  • Virtual Influencer แบบเต็มรูปแบบ
    Influencer รูปแบบนี้จะเป็นภาพเสมือนจริง ที่มีการกำหนดภูมิหลังมีการกำหนดบุคลิกลักษณะรูปร่างหน้าตา ที่อยู่ในโลกของจินตนาการแบบ 100% เช่น Lil Miquela ของประเทศอเมริกา Imma ของประเทศญี่ปุ่น Shudu ของประเทศอังกฤษ และของประเทศไทยก็เป็น Ailynn และ Katii
Ailyn_Thai_Fully_Virtual_Influencer

“Ailynn” Virtual Influencer ของประเทศไทย
Source: https://www.vogue.co.th/fashion/inspirations/article/ai-ailynn-ai-influencer-thailand

  • Hybrid Influencer แบบลูกผสม
    รูปแบบอวตารบนโลกดิจิทัลที่แสดงถึงบุคคลจริง ที่ผสมผสานองค์ประกอบของทั้งโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง โดย Influencer เหล่านี้มักจะมีคู่หูในชีวิตจริงที่ถูกควบคุมและใช้เป็นส่วนขยายความเป็น Personal Brand ของตัวเอง Hybrid Influencer สามารถปรากฏตัวในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง บนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ และในขณะเดียวกันก็แสดงตนในโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วย เช่น Seraphine ที่เริ่มต้นจากการเป็นตัวละครในเกมยอดนิยมอย่าง “League of Legends” และแม้ว่าจะเป็นแค่ตัวละครแต่ก็มีชีวิต “จริง” บนโซเชียลมีเดีย โดยเธอแชร์เนื้อหาและโต้ตอบกับแฟนๆ รวมถึงร่วมมือกับศิลปินและแบรนด์ต่างๆอีกมากมาย
Seraphine_League_of_Legends_Virtual_Influencer

“Seraphine” ตัวละครจากเกม League of Legends ที่กลายมาเป็น Virtual Influencer
Source: https://www.virtualhumans.org/article/riot-games-takes-claim-to-virtual-influencer-seraphine

  • Brand-Owned Virtual Influencer หรือ Influencer ที่แบรนด์เป็นผู้สร้างขึ้นมา
    บุคลิกภาพบนโลกดิจิทัลที่สร้างขึ้นและควบคุมโดยแบรนด์ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์แบบเฉพาะตัวและคุณค่าของแบรนด์ ซึ่งแตกต่างจาก Virtual Influencer รูปแบบอื่นๆที่อาจมีบุคลิกที่แตกต่างกันตามโจทย์ในการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ สำหรับ Brand-Owned Virtual Influencer ที่ออกแบบโดยเจ้าของแบรนด์นั้น จะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือน Brand Ambassador ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนทูตของแบรนด์ รวมถึง Brand Presenter และมักจะมีส่วนร่วมในการโปรโมตผลิตภัณฑ์โดยตรง โดยสามารถปรับแต่งให้เข้ากับแคมเปญการตลาดต่างๆ โต้ตอบกับผู้ชมบนโซเชียลมีเดีย และช่วยสร้างตัวตนของแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์บนโลกดิจิทัล เช่น Guggimon เป็น Virtual Influencer ที่สร้างโดย Superplastic แบรนด์สัญชาติอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านของเล่นและตัวละครบนโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบุคลิกแปลกตา โดยมักจะไปปรากฏในโลกที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น ศิลปะ และวัฒนธรรมบนท้องถนน
Guggimon_Virtual_Influencer_Superplastic

“Guggimon” Virtual Influencer จากแบรนด์ Superplastic
Source: https://deepskystudios.com/project/superplastic-janky-guggimon-3d-tiktok-animation-production/


ประโยชน์จากการใช้ Virtual Influencer

  • ไม่มีข้อผิดพลาดแบบมนุษย์ ซึ่งไม่เหมือนกับ Influencer ที่เป็นมนุษย์จริงๆ เพราะ Virtual Influencer ไม่สามารถทำอะไรผิดได้ มีความสม่ำเสมอ และไม่นำพาแบรนด์ไปสู่วิกฤต
  • ปรับเปลี่ยนได้หลากหลายแบบ แบรนด์สามารถปรับเปลี่ยน Virtual Influencer เพื่อให้เหมาะสมกับแคมเปญต่างๆ และให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้
  • สร้างสรรค์ได้หลากหลาย เพราะไม่ได้ยึดติดกับข้อจำกัดทางกายภาพ Virtual Influencer นั้นสามารถไปอยู่ตรงส่วนไหนก็ได้ สถานการณ์ไหนก็ได้ หรือสถานที่ไหนก็ได้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆได้อย่างไม่รู้จบ
  • เข้าถึงได้กว้างขวางมากขึ้น ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดทางด้านวัฒนธรรม ไปสู่ความสามารถในการสร้างแคมเปญในระดับโลกได้

ข้อเสียเปรียบจากการใช้ Virtual Influencer

  • ขาดความเชื่อมโยงที่แท้จริง แม้ว่า Virtual Influencer จะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ก็อาจทำให้หลายๆคนนั้นรู้สึกว่ายังขาดความรู้สึกทางอารมณ์ ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือและเชื่อใจ
  • การลงทุนครั้งใหญ่ กับการสร้าง Virtual Infuencer ให้สมจริงได้นั้น อาจต้องใช้เงินลงทุนและพัฒนาในช่วงแรกค่อนข้างมาก และอาจต้องใช้เวลานานสักหน่อย
  • ความสมจริงที่อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในบางอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องถ่ายทอดเรื่องราวที่สร้างความเชื่อมั่นในระดับสูง การแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจ รวมไปถึงการใช้ประสบการณ์จริงของมนุษย์ อาจจะไม่ช่วยให้การใช้ Virtual Influencer แสดงออกได้อย่างสมจริงเท่าที่ควร

ธุรกิจประเภทไหนเหมาะที่จะใช้ Virtual Influencer

แน่นอนครับว่า Virtual Influencer นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์อันดีกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดรวมไปถึงประสบการณ์อันดีกับแบรนด์ (Brand Experience) แต่ก็ไม่ใช่ทุกแบรนด์หรือทุกอุตสาหกรรมจะนำ Virtual Influencer มาใช้แล้วประสบความสำเร็จได้ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์หลายปัจจัยด้วยกัน เราลองมาดูครับว่าในเบื้องต้นควรพิจารณาจากอะไร และอุตสาหกรรมประเภทใดเหมาะกับการนำ Virtual Influencer มาใช้กันบ้าง แต่ก่อนอื่นเรามาดูหลักการเลือกใช้ Virtual Influencer กันก่อนครับ

หลักการเลือกใช้ Virtual Influencer

  1. ความชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมาย (Target Preferences)
    • ลองกำหนดดูว่ากลุ่มเป้าหมาย Generation ไหนเป็นคนที่ชื่นชอบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ และโดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มคน Gen Z และ Gen Y (Millennials) มักจะเป็นกลุ่มคนที่ชอบประสบการณ์ใหม่ๆบนโลกดิจิทัล ชอบเล่นเกม ชอบโลก Metaverse เปิดรับ AI ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะเปิดรับ Virtual Inflencer ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่หากกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนั้นไม่ได้ชื่นชอบโลกเทคโนโลยีเอาเสียเลย โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบมนุษย์ปกติทั่วๆไป การใช้ Virtual Influencer ก็อาจจะไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่
  2. ความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม (Industry Relevance)
    • โดยส่วนใหญ่แล้ว Virtual influencer จะเหมาะกับอุตสาหรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เช่น ธุรกิจสายเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์ ไอที มือถือ) แฟชั่น และเกม เป็นต้น
  3. ความเข้ากันกับ Brand Personality และ Brand Image
    • สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่คุณควรคำนึงถึงเวลาจะเลือกใช้ Virtual Influencer ก็คือ ความเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) มากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของแบรนด์ (Personality) และภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) เมื่อแบรนด์วางตำแน่งว่าเป็นแบรนด์ที่ทันสมัย เป็นแบรนด์ที่ก้าวทันเทคโนโลยี เป็นแบรนด์ที่มีนวัตกรรม ก็จะยิ่งเหสมาะสมกับการใช้ Virtual Influencer แบบไม่ต้องสงสัย ซึ่งต่างจากแบรนด์อื่นๆที่วางตำแหน่งแบรนด์ รวมถึงมีบุคลิกลักษณะและภาพลักษณ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
  4. วัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objectives)
    • หากต้องการสร้างกระแสบางอย่างในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ การนำ Virtual Influencer มาใช้กับโลกดิจิทัลและโซเชียลมีเดียก็ถือว่าดูเหมาะสม และอาจสร้างประสิทธิภาพได้ค่อนข้างดี แต่หากคุณต้องการแคมเปญการตลาดที่มีเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์แบบลึกซึ้ง หรือแม้แต่การสร้างความมั่นใจที่ยึดหลักเหตุและผล เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับยา ที่ปรึกษาทางกฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงิน การใช้มนุษย์จริงๆเป็น Influencer ก็อาจจะดูเหมาะสมมากกว่า
  5. การควบคุมเนื้อหา (Control Over Messaging)
    • Virtual Influencer สามารถควบคุมเนื้อหา การใช้น้ำเสียง และการสื่อสารข้อความได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการการสื่อสารที่แม่นยำ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสี่ยงต่อความขัดแย้งใดๆ การควบคุมในระดับนี้มีความสำคัญอย่างมากที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) และเหมาะกับเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน
  6. ต้นทุนและงบประมาณ (Cost and Budget)
    • การสร้าง Virtual Influencer นั้นค่อนข้างใช้งบประมาณสูงในช่วงเริ่มต้น แต่จะเป็นผลดีในระยะยาวซึ่งอาจจะถูกกว่าการจ้าง Influencer ที่เป็นมนุษย์ เพราะคุณสามารถนำมาใช้ได้อีกหลายรอบกับแคมเปญเดิม แต่หากต้องการสร้าง Virtual Influencer ที่มีคุณภาพสูงมากๆก็อาจต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นไปอีก เรื่องต้นทุนและงบประมาณจึงต้องนำมาเป็นปัจจัยในการคำนวณให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ และวัตถุประสงค์ทางการตลาดด้วยเช่นกัน
Shudu_Virtual_Influencer

Source: @shudu.gram

ธุรกิจประเภทไหนเหมาะกับการใช้ Virtual Influencer

  • ธุรกิจสาย Fashion และ Beauty
    สายแฟชั่นและความสวยความงามไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง ถือว่าเป็นธุรกิจที่เหมาะสมมากที่สุดกับการใช้ Virtual Influencer เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการสร้างผลิตภัณฑ์และการนำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์อยู่ในกระแสของความทันสมัย และดึงดูดคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีได้มากขึ้น
  • ธุรกิจสาย Gaming และ Entertainment
    ด้วยความที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว การใช้ Virtual Influencer จะช่วยเชื่อมโยงประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้เข้ากับแคมเปญการตลาดและงานอีเว้นท์ต่างๆ และโดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่อชอบการเล่นเกมก็จะคุ้นเคยกับร่างอวตาร (Avatar) รวมไปถึง Digital Character เป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว
  • ธุรกิจสาย Technology
    กลุ่มธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรงสามารถนำเอา Virtual Influencer มาช่วยนำเสนอและโปรโมทนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้าง Virtual Persona ให้สอดคล้องกับความทันสมัยของอุตสาหกรรมในอนาคต
  • ธุรกิจสาย E-commerce และ Retail
    สำหรับธุรกิจ E-Commerce และบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่ต้องการสร้างประสบการณ์แบบยุคดิจิทัล และอยากเพิ่มการมีส่วนร่วมบนโลกโซเชียลมีเดีย ก็สามารถนำเอา Virtual Influencer มาดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ได้ โดยเฉพาะการนำมาเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์

ธุรกิจที่ไม่เหมาะกับการใช้ Virtual Influencer

  • ธุรกิจสาย Healthcare และ Wellness
    ในธุรกิจที่ต้องการความน่าเชื่ออย่างสูงและต้องการความเข้าอกเข้าใจ ก็อาจเสียประโยชน์หากใช้ Virtual Influencer ในแคมเปญการตลาดได้ เพราะมันไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้สึกส่วนบุคคลได้ โดยเฉพาะในธุรกิจอย่างโรงพยาบาลหรือเกี่ยวกับการแพทย์ ที่จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์จริงและการพูดคุยกับคนจริงๆในรายละเอียดลึกๆ
  • ธุรกิจสาย Non-Profit และ Social Causes
    บางธุรกิจอย่างเช่นหน่วยงานหรือมูลนิธิที่เกี่ยวกับการไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization) รวมไปถึงการสะท้อนปัญหาสังคมด้านต่างๆ ก็อาจมีปัญหาหากนำ Virtual Influencer มาใช้เชื่อมโยงทางอารมณ์ และการแสดงถึงความจริงใจได้
  • ธุรกิจสาย Traditional Finance
    ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินแบบเก่าที่อาศัยความเชื่อมั่น ผ่านประสบการณ์บนโลกของความเป็นจริง (Real-World Experience) การใช้ Influencer ที่เป็นมนุษย์จริงๆจะสร้างชื่อเสียงและสร้างความผูกพันได้ดีกว่าการใช้ Virtual Influencer

หวังว่าผู้อ่านทุกท่านน่าจะพอมองออกแล้วว่า หลักการเลือก Virtual Influencer มาใช้กับธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งมันก็ไม่ได้เหมาะสมกับทุกธุรกิจ แม้ว่าคุณจะพยายามนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากแค่ไหนก็ตาม เพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยที่ต้องนำมาคิดพิจารณานั่นเองครับ


ตัวอย่างการใช้ Virtual Influencer ของแบรนด์ต่างๆ

  • Global Brands
    • Balmain: ถือเป็นหนึ่งแบรนด์หรูด้านแฟชั่นการแต่งกายจากประเทศฝรั่งเศส ที่สร้าง Virtual Influencer ขึ้นมาเองเพื่อใช้ในแคมเปญโฆษณาการขายผลิตภัณฑ์บนสื่อโซเชียลมีเดีย
    • KFC: ได้สร้าง Colonel Sanders ในแบบ Virtual Influencer เพื่อใช้โปรโมทแคมเปญต่างๆบน Instagram
Colonel Sanders Virtual Influencer

Source: https://www.eater.com/2019/4/10/18304550/kfc-colonel-instagram-influencer

  • Thai Brands
    • AIS: ได้ดึงน้อง Ailynn เข้ามาร่วมงานให้เป็นหนึ่งใน AIS Family ที่จะมาทำให้โลกเสมือนจริงเข้าใกล้กับโลกความเป็นจริงในทุกไลฟ์สไตล์ โดยนำมาเป็น Brand Ambassador คนใหม่ และเป็น Virtual Brand Ambassador คนแรกของ AIS อีกด้วย
    • Kasikorn Bank (KBank): ก็มีการเปิดตัว Ken & Kezie เพื่อใช้สื่อสารให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตแบบมีพลังสร้างสรรค์ ทันกับทุกกระแสโลก ถือเป็นแบรนด์แรกของวงการธนาคารที่ใช้ Virtual Influencer
ai_ailynn_AIS_Virtual_Brand_Ambassador

Source: www.instagram.com/ai_ailynn


ในขณะที่เทคโนโลยียังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Virtual Influencer จะยิ่งกลายเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ทางการตลาด ที่สร้างความแตกต่างสำหรับแบรนด์ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับผู้ชมด้วยวิธีที่สร้างสรรค์มากขึ้น และแม้ว่าอาจจะดูไม่เหมาะกับทุกอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ Virtual Influencer ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าบางอย่างบนโลกดิจิทัล และได้เป็นหนึ่งในตัวกำหนดเทรนด์ในอนาคต แบรนด์จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะใช้ Virtual Influencer เหล่านี้อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของแบรนด์และให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายอย่างมีความหมายนั่นเอง


Share to friends


Related Posts

เคล็ดลับสู่การเป็น Influencer มืออาชีพ

Influencer หรือ คนที่มีชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่งที่มีคนติดตามจำนวนมาก ได้กลายเป็นหนึ่งในวิธีทางการตลาดอันดับต้นๆที่หลายแบรนด์ใช้ในยุคนี้ เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก รวมไปถึงการรีวิวหรือโปรโมทสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์


วิเคราะห์ Personality Types 4 ลักษณะ สู่การเป็น Influencer ในแบบฉบับของตัวเอง

การรู้จักวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของตัวเอง (Personality Types) ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะความเป็น Influencer นั้นไม่ใช่แค่เพียงคุณมีความรู้หรืออยากที่จะลองทำเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้การเป็น Influencer นั้นไปได้ไม่สุดทาง


แนวทางการออกแบบเว็บไซต์สำหรับ Personal Brand

การสร้าง Personal Brand หรือที่เราเรียกว่าการสร้างแบรนด์บุคคล นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการโปรโมทตัวเองด้วยความโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่นๆ โดยเป็นการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาซึ่งอาจจะเป็นทั้งความรู้ ความสามารถ ความถนัด และแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่คุณเป็น สิ่งที่คุณยึดถือ บุคลิกภาพ ลักษณะ รวมไปถึงแนวทางการใช้ชีวิต และเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มคนที่เห็นนั้นชื่นชอบในตัวของคุณ



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์