Black_Chess_Strategy

ในโลกของกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อนนั้น มันก็มีกรอบ รูปแบบ และแนวทางในการคิด สำหรับวางแผนธุรกิจอยู่นับไม่ถ้วน เพื่อให้ธุรกิจของคุณเดินหน้าไปอย่างมีทิศทางที่ควรจะเป็น และหนึ่งใน Framework ที่มีชื่อว่า Business Strategy Pyramid ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ที่มีความโดดเด่นในการแสดงให้เห็นแนวทางและโครงสร้างของธุรกิจ และเป็น Framework ที่ค่อนข้างใช้งานและเข้าใจได้ง่าย ที่จะช่วยลดความซับซ้อนของการพัฒนากลยุทธ์ โดยการจัดองค์ประกอบหลักๆให้เป็นลำดับชั้นที่ชัดเจน ซึ่งก็เหมือนกับการนำทางธุรกิจตั้งแต่หลักการพื้นฐานไปจนถึงผลลัพธ์ที่ดำเนินการได้จริง เรามาทำความเข้าใจเรื่องของ Business Strategy Pyramid ในบทความนี้กันครับ

What's next?

การใช้งาน Business Strategy Pyramid เพื่อวางแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์

พีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) คือ กรอบแนวคิด (Framework) ที่มีโครงสร้างชัดเจนในการจัดระเบียบส่วนสำคัญของกลยุทธ์ธุรกิจในรูปแบบพีระมิด โดยช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ระยะยาว กับเป้าหมายและการดำเนินงานระยะสั้นได้อย่างมีความชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยพีระมิดนี้ประกอบด้วยหลายชั้นซึ่งแต่ละชั้นต่างก็มีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ของธุรกิจ โดยมีองค์ประกอบสำคัญๆอยู่ 4 ส่วน ได้แก่

  1. พันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมหลัก (Vision, Mission, Core Values) (ชั้นรากฐาน)
    ชั้นนี้เรียกว่าเป็นรากฐานของพีระมิดที่กำหนดตัวตนขององค์กรและเป้าหมายระยะยาว ที่ประกอบไปด้วย
    • วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นภาพรวมของอนาคตที่องค์กรต้องการจะบรรลุ
    • พันธกิจ (Mission) ที่ระบุวัตถุประสงค์พื้นฐานขององค์กร เหตุผลในการดำรงอยู่ และกลุ่มเป้าหมายที่ให้บริการ
    • ค่านิยมหลัก (Core Values) หรือหลักรวมถึงมาตรฐานด้านจริยธรรม ที่เป็นแนวทางในการตัดสินใจและการปฏิบัติงานขององค์กร
  2. วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives) (ชั้นแนวทาง)
    ชั้นนี้ถือเป็นชั้นแนวทางที่ใช้กำหนดตัวตนขององค์กรและเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับสูงที่ชี้นำให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ เช่น การวางตำแหน่งในตลาด (Market Positioning) การเติบโต (Growth) ความสามารถในการทำกำไร (Profitability) นวัตกรรม (Innovation) และความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยสร้างความสอดคล้องระหว่างความตั้งใจขององค์กรกับความพยายามในเชิงปฏิบัติ
  3. ยุทธวิธีและแผนงาน (Tactics and Plans) (ชั้นปฏิบัติการ)
    ชั้นนี้เรียกว่าชั้นปฏิบัติการที่เป็นการเชื่อมโยงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ให้กลายเป็นงานที่จัดการได้และปฏิบัติได้จริง โดยมุ่งเน้นที่แผนปฏิบัติการและโครงการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร การจัดการโครงการ และการกำหนดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ
  4. การดำเนินงานและการติดตามผล (Execution and Monitoring) (ชั้นประเมินผล)
    ชั้นนี้ถือเป็นชั้นของการประเมินผลที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ การปรับตัวได้ และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของการทำธุรกิจ ตั้งแต่การนำแผนไปปฏิบัติและการติดตามผล เพื่อให้แน่ใจว่าความคืบหน้าสอดคล้องกับเป้าหมายกลยุทธ์ รวมถึงการใช้ตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลัก (KPIs) และการประเมินผลทั้งในอดีตรวมถึงปัจจุบัน
Business_Meeting_in_the_room

ที่นี้เราลองมาดูภาพด้านล่างกับการเรียงแต่ละชั้นของพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) เพื่อที่จะได้มองเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยยอดปลายสุดของพีระมิดนั้นเริ่มด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) ค่านิยมหลัก (Core Values) เป้าหมาย (Goals) กลยุทธ์ (Strategies) และแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัด (Action Plan & KPI’s)

Business Pyramid Strategy Framework

วิสัยทัศน์ (Vision)

วิสัยทัศน์ในพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) หมายถึง สถานะอนาคตขององค์กรกับความมุ่งมั่นของธุรกิจในระยะยาว ที่เป็นคำกล่าวที่ชัดเจนและน่าดึงดูดใจถึงสิ่งที่องค์กรต้องการจะเป็นและต้องการจะบรรลุผลสำเร็จ วิสัยทัศน์จะเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรและแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ทางธุรกิจสำหรับพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ที่วางไว้อยู่ด้านบนสุดของพีระมิดให้เห็นเป็นแนวทางในการตัดสินใจและการดำเนินการทั้งหมดภายในองค์กร

พันธกิจ (Mission)

พันธกิจในพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) จะเป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์ของตัวองค์กร ที่ระบุว่าองค์กรนั้นทำหน้าที่อะไรและทำไปเพื่อใคร นับเป็นข้อความที่ชัดเจนและรัดกุมซึ่งอธิบายถึงเหตุผลพื้นฐานขององค์กรในการดำรงอยู่ พันธกิจหรือภารกิจนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับวิสัยทัศน์ (Vision) แต่จะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าและมุ่งเน้นไปที่ปัจจุบัน โดยตอบคำถามว่าองค์กรต้องทำอะไร เพื่อใคร และจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับการกำหนดเป้าหมายและกระบวนการตัดสินใจ กับการวางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน

ค่านิยมหลัก (Core Values)

ค่านิยมหลักในพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) เป็นหลักการชี้นำที่เป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมและพฤติกรรมของทั้งองค์กร นับเป็นความเชื่อพื้นฐานและเป็นแนวทางที่องค์กรยึดมั่น ที่เอาไว้ควบคุมการกระทำและการตัดสินใจของตัวองค์กร ค่านิยมจึงถือเป็นเข็มทิศทางศีลธรรมและช่วยเชื่อมความรู้สึกถึงจุดประสงค์ร่วมกัน ระหว่างพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ที่สะท้อนให้เห็นผ่านโยบาย (Policy) หลักปฏิบัติ (Principle) และการตัดสินใจ (Decision) เรื่องต่างๆ

เป้าหมาย (Goals)

เป้าหมายในพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) เป็นวัตถุประสงค์เฉพาะที่สามารถวัดผลได้ ที่องค์กรมุ่งหวังที่จะบรรลุให้ได้ตามที่วางไว้เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์และพันธกิจ เป้าหมายควรแสดงถึงความทะเยอทะยานแต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และสอดคล้องกับทิศทางและวัตถุประสงค์ขององค์กรและการทำธุรกิจ ที่ช่วยให้มั่นใจว่าทุกคนจะทำงานไปสู่วัตถุประสงค์เดียวกัน

กลยุทธ์ (Strategies)

กลยุทธ์ในพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) หมายถึง แผนปฏิบัติการขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่ควรมีความครอบคลุมในทุกๆด้านของการดำเนินงานภายในองค์กร และควรพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามขององค์กร (SWOT Analysis) กลยุทธ์ถือเป็นแนวทางสำหรับองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่วิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ที่ช่วยให้องค์กรมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่สำคัญที่สุด และจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการได้อย่างเหมาะสม และกลยุทธ์ที่ดีควรมีความยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและปัจจัยภายใน

แผนการดำเนินงานและตัวชี้วัด (Action Plan & KPI’s)

แผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดในพีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) คือ ยุทธวิธีแบบเฉพาะที่องค์กรจะนำกลยุทธ์ไปใช้ ที่ประกอบไปด้วยลำดับเวลาของงานหรือกิจกรรม (Timeline) การจัดสรรทรัพยากร (Resource) การกำหนดความรับผิดชอบ (Responsibility) และตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (Key Performance Indicators – KPI’s) โดยในขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำให้พีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) นั้นมีความสมบูรณ์แบบ


ประโยชน์ของ Business Strategy Pyramid

พีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) ไม่ใช่แค่เพียงแนวคิดในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงที่จะช่วยให้องค์กรดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ระดับสูงเข้ากับการดำเนินงานภายใน ซึ่งมันก็มีประโยชน์หลักๆ ดังนี้

  • สร้างความชัดเจน ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเชิงกลยุทธ์ทั้งหมด
  • นำเสนอความสอดคล้อง ที่ทำให้ทุกทีมและแต่ละแผนกเห็นภาพรวมที่สอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมขององค์กร
  • การมุ่งเน้นที่ชัดเจน กับการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายที่สำคัญๆ
  • การขยายขอบเขต ที่สามารถนำไปใช้กับองค์กรในทุกๆขนาดและทุกๆอุตสาหกรรม

การเชื่อมโยง Vision, Mission และ Core Values

เมื่อคุณเริ่มสร้างพีระมิดกลยุทธ์สำหรับองค์กรของคุณ การวางวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และค่านิยมหลัก (Core Values) ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำ เพราะมันจะนำไปสู่ความคิดริเริ่มในด้านต่างๆและการตัดสินใจทั้งหมด ที่จะสนับสนุนเป้าหมายและความเชื่อโดยรวมของธุรกิจคุณ และการเชื่อมโยงทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกันเพื่อให้ออกมาร้อยเรียงเป็นเนื้อเดียวกัน ก็มีวิธีการทำ ดังนี้

1. ปรับแต่ง Vision Statement ให้น่าสนใจ

คำแถลงการณ์ถึงวิสัยทัศน์ถือเป็นเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางการวางแผนเชิงกลยุทธ์ทั้งหมด และทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนว่า คุณต้องการให้ธุรกิจของคุณไปในทิศทางใดในอนาคต ดังนั้นคำแถลงหรือคำอธิบายสรุปถึงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจและน่าดึงดูดใจ จะกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยทุกคนจะมองเห็นภาพรวมที่สดใสของทั้งตัวบริษัท ด้วยหลักการเหล่านี้

  • ควรจะกระชับได้ใจความ
  • ต้องมีความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง
  • ไม่ใช่การเขียนเพื่อขายสินค้าหรือบริการ
  • มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ตรงไปตรงมา
  • สะท้อนในสิ่งที่ตัวเองเป็น
  • มีคุณค่าซ่อนอยู่ภายใน
  • สามารถแปลง Vision สู่ Tagline ได้อย่างชัดเจน

2. คำอธิบาย Mission ที่ชัดเจน

แม้ว่าพันธกิจอาจจะสับสนดูกับคำว่าวิสัยทัศน์อยู่บ้าง แต่มันก็เป็นแนวทางในการบรรลุวิสัยทัศน์ของคุณ โดยจำเป็นต้องสรุปว่าคุณทำอะไร ทำเพื่อใคร และคุณค่าหรือสิ่งที่คุณนำมาให้กับทุกๆคน พันธกิจของคุณจะเป็นตัวกำหนดทิศทางรายวันที่สะท้อนการกระทำของคุณ และสื่อสารวัตถุประสงค์ไปยังทีมงาน กลุ่มเป้าหมาย และผู้คนที่อยู่ภายนอก ที่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของคุณ ด้วยหลักการเหล่านี้

  • กำหนดเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจน
  • เชื่อมโยงให้เข้ากับวิสัยทัศน์และค่านิยมหลัก
  • เคลียร์ให้ชัดว่าจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น
  • กำหนดกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจให้ชัดเจน
  • เน้นย้ำผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้น
  • มีความแท้จริงและแตกต่างจากคู่แข่ง
  • ใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายและกระชับ
  • แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่ซ่อนอยู่

3. กำหนด Core Values ที่เป็นแก่นแท้ของธุรกิจ

ค่านิยมหลัก คือ แก่นแท้ความเป็นตัวตนของตัวธุรกิจคุณทั้งหมด ที่จำเป็นต้องสนับสนุนวิสัยทัศน์ มีการกำหนดรูปแบบวัฒนธรรม และสะท้อนถึงสิ่งที่องค์กรของคุณให้ความสำคัญมากที่สุด การสร้างค่านิยมหลักที่แข็งแกร่งจะเป็นแบบทดสอบที่สำคัญ โดยหลักการที่คุณนำเสนอจะเป็นแนวทางของพฤติกรรมและกระบวนการตัดสินใจภายในองค์กรของคุณ ที่ต้องมีความชัดเจน ทำอย่างสม่ำเสมอ และมีส่วนสำคัญในทุกด้านของธุรกิจของคุณ โดยมีหลักการกำหนด ดังนี้

  • สร้างให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในระดับบุคคล
  • เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ
  • อธิบายได้อย่างชัดเจนว่าคุณคือใคร
  • ระบุได้แน่ชัดว่าคุณเกิดมาเพื่ออะไร
  • ช่วยอธิบายให้เห็นว่าทำไมคุณถึงมีแนวทางในการทำธุรกิจลักษณะนี้
  • เป็นแนวทางให้เห็นว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ
  • เป็นแนวทางให้เห็นว่าเราควรให้รางวัลความสำเร็จอย่างไร
  • เป็นแนวทางในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
  • หนุนนำทั้งองค์กร
3_Men_planning_project_together

การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์

การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตและความสำเร็จของธุรกิจ องค์ประกอบส่วนนี้จะทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางในการปรับการปฏิบัติในแต่ละวัน ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ ดังนี้

1. ระบุเป้าหมายที่วัดผลได้

คุณต้องกำหนดเป้าหมายแบบเฉพาะที่สามารถวัดผลได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (ตามความเหมาะสม) โดยต้องมีการติดตามความคืบหน้าได้ตลอดเวลา ที่อาจเป็นเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของยอดขาย หรือจำนวนผู้ติดตามบน Social Media เช่น

  • เป้าหมายในการเพิ่มยอดขาย 15% ในไตรมาสถัดไป
  • เพิ่มจำนวนคนสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้ได้ 200 คนต่อเดือน
  • ดึงลูกค้าให้มาใช้บริการหน้าร้านให้ได้ 10% ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปี 2025

2. จัดลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์

การระบุและจัดลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์ โดยเน้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจต้องการก่อน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับเป้าหมายตามความสำคัญหรือความเร่งด่วน (สามารถนำ Time Management Matrix หรือ JTBD Framework มาใช้ได้) โดยใช้เกณฑ์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธุรกิจ และคุณควรมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรของคุณ ให้ไปสนับสนุนวัตถุประสงค์ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับธุรกิจของคุณมากที่สุด ตัวอย่างเช่น

  • เมื่อคุณมุ่งเน้นไปที่ยอดขายใน 3 ปีแรก ก็ควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายเป็นอันดับแรกๆ โดยอาจลดกิจกรรมด้านอื่นๆที่ไม่ได้ส่งผลเรื่องยอดขายลง
  • เมื่อคุณมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ ก็อาจแบ่งสัดส่วนสำหรับการสร้างแบรนด์ โดยทำควบคู่ไปกับการสร้างยอดขาย ที่เป็นกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและขายของได้ด้วย
  • เมื่อคุณเน้นการกู้ภาพลักษณ์แย่ๆให้กับธุรกิจ คุณก็ควรลดเรื่องของการขายหรือกิจกรรมทางการตลาดลง แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการแก้ผลกระทบต่อชื่อเสียงก่อนเป็นอันดับแรก

3. เชื่อมโยงเป้าหมายให้เข้ากับ Vision และ Mission

เป้าหมายของคุณจะต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ที่ครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่าความพยายามทุกประการจะขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ตั้งเอาไว้ การวางเป้าหมายที่เกี่ยวเนื่องกันจะทำให้มั่นใจได้ว่าความสำเร็จในระยะสั้น จะมีส่วนทำให้เกิดแรงบันดาลใจในระยะยาว ทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจในเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเหนียวแน่น ตัวอย่างเช่น หากวิสัยทัศน์ของคุณเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน เป้าหมายของคุณควรสนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนโดยตรงด้วย

Management_Team_meeting_about_sales_target

การพัฒนาแผนงานและวิธีการดำเนินการ

ในการสร้างและกำหนดแผนงานก็จำเป็นต้องกลั่นกรองจากกลยุทธ์ทั้งหมด โดยขั้นตอนเหล่านี้จะต้องประสานกับการดำเนินงานในแต่ละวันแบบไหลลื่นที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. แปลงกลยุทธ์ให้กลายเป็นแผนงาน

การแปลงแปลกลยุทธ์ให้เป็นการวางแผนงาน ควรเริ่มโดยการแบ่งเป็นเป้าหมายระสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เห็นเป็นวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ สิ่งสำคัญก็คือคุณต้องระบุแผนงานโดยใส่รายละเอียดว่าต้องทำอะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบงานแต่ละงาน งานควรจะเสร็จสิ้นเมื่อใด และสิ่งที่ทำนั้นมีส่วนช่วยกลยุทธ์ทั้งหมดอย่างไร ตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของคุณคือการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด การดำเนินการเชิงกลยุทธ์อาจเกี่ยวข้องกับการเปิดตัวแคมเปญการตลาด แบบกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายใดภายในช่วงระยะเวลาใด

  • ตัวอย่าง Action Plan
    • วัตถุประสงค์ เพื่อขยายธุรกิจไปสู่ตลาดกลุ่มใหม่
    • วิธีการ
      • ค้นหาข้อมูลเพื่อระบุแนวโน้มกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมองหาอยู่
      • พัฒนาแคมเปญการตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ
      • กำหนดและระบุ KPI’s ให้ชัดเจนในแต่ละแคมเปญ
    • ระยะเวลา 3 เดือนสำหรับการทำแคมเปญ

2. เชื่อมโยงการดำเนินงานให้เข้ากับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์

การปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ คือ การทำให้กิจกรรมในแต่ละวันของคุณขับเคลื่อนคุณไปสู่เป้าหมายนั้นๆ โดยคุณควรตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผน และทำการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเมื่อไม่ได้ตามเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายคือการปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้า การปฏิบัติงานของคุณอาจรวมถึง การทำระบบสำหรับคำติชมของลูกค้าใหม่ และการฝึกอบรมพนักงานให้สื่อสารกับลูกค้าด้วย ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)

  • ตัวอย่างการเชื่อมโยงแผน Operation
    • ระบุ ว่ามีอะไรที่ดูแล้วเกิดความขัดแย้งหรือทับซ้อนกัน ในส่วนที่ต้องดำเนินงานและกลยุทธ์ทั้งหมด
    • วางแผน เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนในทุกๆมิติ
    • ดำเนินการตามแผน ด้วยการนำแผนที่ได้นั้นไปปรับใช้ทั่วทั้งองค์กรด้วยความระมัดระวัง และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
    • ทบทวน แผนงานเป็นประจำเพื่อปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่อง ให้ได้ตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ได้ตั้งไว้

ด้วยการยึดมั่นในแนวทางที่มีโครงสร้างนี้ จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และการดำเนินการทุกครั้งจะก้าวไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของธุรกิจอยู่เสมอ

startup_design_and_planning_their_project

การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินการเชิงกลยุทธ์

ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกำหนดความสำเร็จของการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ได้ ดังนั้นคุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการกำหนดทรัพยากรที่จำเป็นทั้งหมด มีวิธีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในทางปฏิบัติได้ ดังนี้

1. ระบุทรัพยากรหลักที่จำเป็น

ประการแรกคุณต้องแยกแยะว่าทรัพยากรใดบ้างที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนขั้นตอนของสิ่งที่คุณกำลังจะทำ ซึ่งประกอบไปด้วยการวิเคราะห์โดยละเอียดเพื่อยืนยันเรื่องทรัพยากรบุคคล การเงิน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่จำเป็น ที่จะอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการดำเนินการ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมทรัพยากรเหล่านี้ ให้เข้ากับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ เช่น หากธุรกิจของคุณเน้นความคล่องตัวและเทคโนโลยี ก็ควรลงทุนในระบบอัตโนมัติ การนำซอฟต์แวร์สนับสนุน และ AI มาใช้ เป็นต้น

2. การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผล

เมื่อคุณระบุทรัพยากรที่จำเป็นได้แล้วก็จะเปลี่ยนบทบาท ไปเป็นการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดส่วนผสมที่เหมาะสมของทรัพยากร ไปยังจุดที่จำเป็นที่สุดเพื่อรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทั้งหมด คุณจำเป็นต้องกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรเพื่อป้องกันการจัดการที่ผิดพลาด และรับรองให้ได้ว่าสินทรัพย์ทุกอย่างจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการทำงาน ทั้งแผนงาน ยุทธวิธี และทุกอย่างในเชิงกลยุทธ์

3. การตั้งงบประมาณและบริหารเงินทุน

การเตรียมงบประมาณที่สมเหตุสมผลและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยจะเกี่ยวข้องกับการคำนวณต้นทุนของทรัพยากรแต่ละรายการ การกำหนดแนวทางการลงทุนทางการเงินทั้งหมดที่จำเป็น และทุกครั้งเมื่อมีการจัดสรรเงินทุน ก็จะต้องสะท้อนถึงความสำคัญของแต่ละเป้าหมายภายในแต่ละขั้นของพีระมิด โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อจำกัดทางการเงินจะไม่ขัดขวางขั้นตอนการดำเนินการที่จำเป็น

a_woman_using_laptop

การวิเคราะห์และปรับปรุง

ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันกันสูง ความสำเร็จของคุณจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์อย่างชาญฉลาด และความสามารถในการปรับกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้คุณจำเป็นต้องประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก โดยการนำเอา SWOT Analysis ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ มาใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ดังนี้

1. การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกอย่างครอบคลุม

เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) คุณต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากภายนอกอย่างครอบคลุม เพื่อทำความเข้าใจแรงผลักดันที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแนวโน้มของตลาด ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ และภาพรวมการแข่งขัน การระบุภัยคุกคามและโอกาสในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จะทำให้คุณสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีกลยุทธ์ และสิ่งนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาด และนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานของธุรกิจให้สอดคล้องกัน

2. ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ SWOT

การวางแผนเชิงกลยุทธ์โดยพื้นฐานแล้วจะเกิดจากการวิเคราะห์ SWOT อย่างละเอียด ซึ่งเป็นกรอบการประเมินที่ช่วยให้เข้าใจ และใช้ในการปรับขีดความสามารถภายในของธุรกิจให้สอดคล้องกับโอกาสภายนอก การประเมินจุดแข็ง (Strengths) นั้นก็เพื่อใช้ประโยชน์จากช่องว่างของตลาดให้เป็นประโยชน์ และแก้ไขจุดอ่อน (Weakness) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และคุณยังจะค้นพบภัยคุกคาม (Threats) ที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงโอกาสใหม่ๆ (Opportunities) ได้อีก ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ถึงการอยู่รอดในระยะยาวและเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ในตลาดการแข่งขันที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ในการวิเคราะห์แง่มุมต่างๆนั้นไม่ใส่แค่เพียง SWOT ครับ แต่ยังมีอีกหลายเครื่องมือ หลากหลาย Framework และอีกหลากหลาย Matrix ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้อีก เช่น

photo_of_drawing_analysis_plan_on_table

การวัดผลลัพธ์และปรับปรุงประสิทธิภาพ

ในการจัดการเชิงกลยุทธ์นั้นสิ่งสำคัญเรื่องสุดท้าย ก็คือ คุณต้องวัดผล ติดตาม และปรับปรุง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์ของคุณมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ที่จะนำพาให้ธุรกิจของคุณไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ ดังนี้

1. ตั้งตัวชี้วัดให้ถูกต้องเหมาะสม

หากต้องการวัดความก้าวหน้าของธุรกิจให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดตัวชี้วัด (Metrics) ที่ชัดเจนและเกี่ยวข้องถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยตัวชี้วัดเหล่านี้ควรสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของคุณ ที่สามารถวัดผลความสำเร็จในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น หากกลยุทธ์ของคุณเกี่ยวข้องกับการเติบโต ตัวชี้วัดหลักอาจรวมถึงการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด การเติบโตของรายได้ หรืออัตราการได้มาซึ่งลูกค้า ตัวอย่างเช่น

  • ตัวชี้วัดด้านการเงิน (Financial Metrics) คือ อัตรากำไร (Profit) ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment – ROI)
  • ตัวชี้วัดเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Metrics) คือ คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction Scores – CSAT) อัตราการกลับมาซื้อซ้ำ (Retention Rates)
  • ตัวชี้วัดด้านการดำเนินงาน (Operational Metrics) คือ อัตราด้านประสิทธิภาพ (Efficiency Rates) ต้นทุนการผลิต (Production Costs)
  • ตัวชี้วัดด้านการเรียนรู้และการเติบโต (Learning and Growth Metrics) คือ การพัฒนาทักษะของพนักงาน (Employee Skill Advancement) อัตราสร้างนวัตกรรม (Innovation Rates)

2. ตรวจสอบ ติดตามผล และจัดทำรายงาน

เมื่อคุณกำหนดตัวชี้วัดสำหรับการวางแผนธุรกิจได้แล้ว การติดตามและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลประสิทธิภาพในสิ่งที่ทำ คุณจำเป็นต้องสร้างหรือนำระบบที่ใช้สำหรับการรายงานผลงานมาช่วย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในแต่ละตัวชี้วัดอย่างทันท่วงที โดยส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับ

  • รายงานผลการทำงานประจำเดือน เพื่อปรับปรุงยอดขายในเดือนถัดไป (Monthly Performance Reviews)
  • รายงานสภาพและแนวโน้มตลาดประจำไตรมาส เพื่อนำไปปรับแผนงานในไตรมาสต่อๆไป (Quarterly Reports)
  • รายงานผลงานประจำปีเพื่อปรับปรุงและกำหนดเป้าหมายใหม่ๆ (Annual Appraisals)

สำหรับเครื่องมือประเภทที่ควรนำมาสนับสนุน ก็เช่น แดชบอร์ด (Dashboard) หรือ การทำ Balance Scorecard ที่แสดงข้อมูลให้เห็นเป็นภาพที่ทำให้เข้าใจและสามารถนำไปดำเนินการเรื่องอื่นๆได้ง่ายขึ้น การตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่องจะทำให้มั่นใจได้ว่า การวางแผนเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจคุณยังคงเป็นไปตามแผน และยังทำให้เห็นโอกาสในการปรับปรุงเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกนั่นเอง

A_Man_Watching_Dashboard_on_Laptop

พีระมิดกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy Pyramid) เป็นแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยนำทางในตลาดที่มีความท้าทาย และการเริ่มต้นด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง การปรับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความคิดริเริ่มธุรกิจ และการให้ความสำคัญกับการดำเนินการ จะทำให้ธุรกิจต่างๆสามารถเติบโตและสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนได้นั่นเอง


Share to friends


Related Posts

ความแตกต่างระหว่าง Brand Purpose, Vision และ Mission

ความสามารถของแบรนด์ในการสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นไม่เหมือนใครจากคู่แข่งในตลาด และกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและยากกว่าเดิมที่ผ่านมา ซึ่งการขับเคลื่อนแบรนด์หรือธุรกิจในยุคนี้นั้นมันมากกว่าคำว่าการทำกำไร แต่มันคือการที่ต้องตอบลูกค้าให้ได้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราเป็นใคร การมีอยู่ของเรามันช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ขึ้นอย่างไร


ความแตกต่างระหว่าง Brand Strategy กับ Business Strategy

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ (Strategy) ที่ดี และกลยุทธ์โดยหลักๆที่เราคุ้นเคยกันในการทำธุรกิจ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวางกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) และการวางกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเข้าใจความแตกต่างของทั้ง 2 กลยุทธ์กันเป็นอย่างดี แต่ในระยะหลังๆเราก็จะได้ยินคำว่าการสร้างแบรนด์ (Branding)


สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพด้วย Pyramid Principle

Pyramid Principle เป็นเครื่องมือสำหรับจัดโครงสร้างข้อมูลให้มีความชัดเจน สมเหตุสมผล และมีประสิทธิภาพ ซึ่งถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะมีความกระชับและเข้าใจง่าย มีรายละเอียดสนับสนุนอย่างเป็นลำดับ


วิธีสร้าง Brand Differentiation Strategy

หนึ่งในวิธีการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จก็คือการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม และกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ หรือที่เราเรียกว่า Brand Differentiation Strategy นั้น ก็เป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยให้แบรนด์ของคุณโดดเด่นเอาชนะคู่แข่งและเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้ ซึ่งมันก็คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์